ลดดอกเบี้ยกดดัน NIM ข้ามปี จับตาแบงก์ใหญ่แก้เกมรายได้วูบ

หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.25% ต่อปี ต่ำสุดในรอบ 10 ปี จากนั้นไม่กี่วัน ก็ได้เห็นการส่งผ่านนโยบายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ต่างพาเหรดลดดอกเบี้ยเงินกู้บางลงในทันที

เริ่มจากธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) นำร่องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% ต่อปี และลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.25% ต่อปี มีผลตั้งแต่ 8 พ.ย. 62 เป็นต้นไป, ธนาคารกสิกรไทย (KBank) ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ลง 0.25% และลดดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับนิติบุคคลลง 0.07-0.25% มีผล 11 พ.ย. 62, ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ลดดอกเบี้ยกู้ MLR ลง 0.25% มีผล 11 พ.ย. 62, ธนาคารกรุงไทย (KTB) ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง 0.25% และลดดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.25% เว้นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร มีผล 11 พ.ย. 62 และธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ลดดอกเบี้ย MLR ลง 0.25% และลดดอกเบี้ยเงินฝากนิติบุคคลลง 0.05%-0.35% มีผล12 พ.ย. 62 เป็นต้นไป

“ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ แบงก์กรุงเทพ ยอมรับว่า การลดดอกเบี้ยเงินกู้แต่ยังไม่ลดดอกเบี้ยเงินฝาก ย่อมกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของแบงก์ แต่ธนาคารยอมรับผลกระทบดังกล่าวได้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้า โดยเชื่อว่าหลังการปรับลดดอกเบี้ยลง น่าจะเป็นตัวช่วยเหลือต้นทุนแก่ผู้ประกอบการ ขณะเดียวกัน ธนาคารก็ยังสามารถรับมือกับหนี้เสีย (NPL) ได้ โดยที่ไม่มีนโยบายตัดขายหนี้เสียทิ้ง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ยเงินฝากในลำดับถัดไป

“การที่ธนาคารลดดอกเบี้ยกู้ก่อน ยังไม่ลดดอกเบี้ยเงินฝากทันที เพราะเราก็ระมัดระวังไม่อยากให้กระทบกับผู้ฝากของเรา และสภาพคล่องของแบงก์ก็ยังดี ไม่มีปัญหา” นายชาติศิริกล่าว

ขณะที่ “เดชา ตุลานันท์” ประธานกรรมการบริหาร แบงก์กรุงเทพ ระบุว่า ธนาคารจะประเมินผลใน 3 เดือน เพื่อจะทบทวนถึงความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งยอมรับว่าการลดดอกเบี้ยเงินฝากโดยเฉพาะในกลุ่มรายย่อยเป็นเรื่องลำบาก เพราะกระทบต่อลูกค้าอย่างกลุ่มวัยเกษียณที่นำดอกเบี้ยเงินฝากไปใช้ดำรงชีวิต ดังนั้น ก็ต้องให้กระทบบุคคลธรรมดาให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาออกเงินฝากประจำเทอมพิเศษ เพื่อจูงใจให้ลูกค้ามาฝากเงินกับธนาคารมากขึ้น เพื่อช่วยประคองต้นทุนของธนาคาร

ส่วนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพในระยะต่อไป จะเน้นปล่อย 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกลุ่มภาคเกษตร

“ขัตติยา อินทรวิชัย” กรรมการผู้จัดการ แบงก์กสิกรไทย บอกว่า ปี 2563 แบงก์ตั้งเป้าสินเชื่อโต 4-6% จากปีนี้ที่คาดว่าจะโตได้ 5% โดยปีหน้าจะเน้นปล่อยสินเชื่อรายย่อยโต 9-11% สินเชื่อรายใหญ่โต 2-4% และสินเชื่อเอสเอ็มอีโต 1-2% และจะบริหารจัดการหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในกรอบ 3.6-4%

“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย คาดว่าสินเชื่อรวมของแบงก์ปีนี้จะโตต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 5% ขณะที่ NPL น่าจะให้เหลือต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ ได้ ส่วนการตั้งสำรองน่าจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4 นี้ หลังจาก 9 เดือนแรกตั้งสำรองแล้ว 9,000 ล้านบาท ส่วนปีหน้าตั้งเป้าสินเชื่อรวมโตได้มากกว่า 3.2%

โดยยอมรับว่าการลดดอกเบี้ยเงินกู้ MLR แต่ยังไม่ลดดอกเบี้ยเงินฝากรายย่อยนั้น จะกระทบผลดำเนินงานตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ต่อเนื่องไปถึงปีหน้า แต่ก็เป็นการช่วยประคองลูกค้า โดยจะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของ “นริศ สถาผลเดชา” ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า รอบนี้แบงก์ใหญ่ลดดอกเบี้ยแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่ลดดอกเบี้ย MLR จากที่รอบที่แล้วไม่ได้ลด ลดเฉพาะ MRR กับ MOR โดยรอบนี้มีทางไทยพาณิชย์ที่ลด MRR เพราะระดับเดิมสูงกว่าแบงก์อื่น จึงเห็นการปรับลดลงมาอยู่ในระดับเดียวกัน

“สรุปโดยรวม รอบนี้ MLR ปรับลดลง หลังจากรอบที่แล้วมีแต่ MRR กับ MOR ที่ปรับลด ส่วนขาเงินฝาก ก็มีแบงก์ที่ลดเงินฝากประจำของรายย่อย และบางแบงก์ที่ไม่ได้ลดดอกเบี้ยเงินฝากรายย่อย แต่ลดเฉพาะของนิติบุคคล ดังนั้นโดยรวมผู้ฝากเงินไม่ได้กระทบมาก เนื่องจากปัจจุบันเงินฝากรวมของระบบแบงก์อยู่ที่ 7.2 ล้านล้านบาท เป็นเงินฝากออมทรัพย์ถึง 60% ถ้าดอกเบี้ยออมทรัพย์ยังไม่ลง ก็ยังได้ไม่กระทบ” นายนริศกล่าว

ทั้งนี้ หากจะพิจารณาถึงแนวโน้มผลประกอบการแบงก์ในระยะข้างหน้า คงต้องย้อนกลับไปดูข้อมูลระบบธนาคารพาณิชย์ จนถึงสิ้นไตรมาส 3 ปีนี้ (30 ก.ย. 2562) ที่พบว่า 5 แบงก์ใหญ่อันดับแรก มี NIM เฉลี่ยอยู่ที่ 3.12% ซึ่งจะเห็นได้ว่า 4 แบงก์ใหญ่มี NIM เกิน 3% โดยไทยพาณิชย์มี NIM สูงกว่าแบงก์อื่นอยู่ที่ 3.65% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ ส่วนแบงก์กรุงเทพ NIM ต่ำกว่า 3%

“แบงก์ใหญ่ส่วนมาก NIM ปรับตัวลดลง มีแค่ไทยพาณิชย์ที่ NIM ดีขึ้น ซึ่งน่าจะมาจากการปล่อยกู้สินเชื่อรายย่อยมากขึ้น” นายนริศกล่าว

นอกจากนี้ หากเข้าไปดูตัวเลขรายจ่ายดอกเบี้ย (interest expense) ของ 5 แบงก์ใหญ่รวมกัน จะพบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากสิ้นไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่กว่า 4.2 หมื่นล้านบาท เป็นกว่า 4.3 หมื่นล้านบาทในสิ้นไตรมาส 3 แต่จากล่าสุดที่เริ่มมีการลดดอกเบี้ยเงินฝากกันแล้ว ก็น่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลดลงไปได้บ้าง อย่างไรก็ดี หลังจากนี้คงเห็นแบงก์มีการบริหารจัดการ NIM ให้เห็น โดยเฉพาะในภาวะดอกเบี้ยขาลง ถือว่าค่อนข้างท้าทาย

“แบงก์ใหญ่ก็คงต้องมีการบริหารจัดการ NIM กันเพราะส่วนใหญ่ NIM ลดลงในช่วงที่ผ่านมา แล้วยิ่งตอนนี้ลด MLR ลง ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากยังไม่ได้ลดลงไปมาก ก็ยิ่งกดดัน NIM ยิ่งขึ้นไปอีก แล้วเมื่อเข้าไปดูแนวโน้มรายได้ดอกเบี้ย (interest income) ช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ก็ไม่ได้โตมากขึ้นมาก ต่างจากปีที่ผ่านมาที่โตขึ้นทุกไตรมาส” นายนริศกล่าว

สำหรับภาพการทำธุรกิจแบงก์ปี 2563 “นริศ” บอกว่า หลายแบงก์ก็คงรุกกลุ่มรายย่อยกันมากขึ้น เนื่องจากยังสามารถทำรายได้จากดอกเบี้ยได้ อย่างไรก็ดี แบงก์ก็คงต้องปล่อยสินเชื่อรายย่อยอย่างระมัดระวัง เนื่องจากต้องปฏิบัติตามแนวทางการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบตามที่ได้ลงนามกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไว้

“ปีหน้า แบงก์ต้องเผชิญทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ก็ยังไม่น่าจะดีขึ้นตามภาวะตลาด ทั้งจากการขายกองทุน จากการขายประกัน รวมถึงธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ ส่วนฝั่งรายจ่าย การตั้งสำรองก็คงเพิ่มขึ้น เพราะ NPL น่าจะพีก (ถึงจุดสูงสุด) ปีหน้า เพราะไตรมาส 3 ปีนี้ NPL ทั้งระบบน่าจะเกิน 3% ส่วนปีหน้าก็น่าจะวิ่งต่อไป 3.1-3.2% แล้วยิ่งมีมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) อีก ดังนั้นการตั้งสำรองก็น่าจะมากขึ้น” นายนริศกล่าว

ระยะข้างหน้า แบงก์จะยิ่งได้รับแรงกดดัน จากทั้งด้าน “รายรับและรายจ่าย” โดยมุมหนึ่งก็ต้องช่วยลูกค้าในภาวะยากลำบาก แต่อีกด้านก็ต้องรักษากำไรเพื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งแต่ละแบงก์คงต้องขยับทำอะไรหลังจากนี้ ส่วนจะทำอย่างไรคงต้องจับตาต่อไป