“ทนายนกเขา” บุกคลังร่อนหนังสือ 4 หน่วยงาน สู้ค่าโง่ “โฮปเวลล์”

“นิติธร” บุกคลังร่อนหนังสือ 4 หน่วยงาน สู้ค่าโง่ “โฮปเวลล์” 2.4 หมื่นล้านบาท ขอคลังแจ้ง ครม.ตั้งคณะกรรมการดูแล พร้อมยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ของดการบังคับคดี

นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ได้มายื่นหนังสือแก่ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอให้ควบคุมดูแลการใช้จ่ายของแผ่นดินและหน่วยงานภาครัฐ ในคดีโครงการในเอกชนลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร โดยได้รับสัมปทานเดินรถระบบรถไฟชุมชน (Community Train) และทางด่วนยกระดับสำหรับรถยนต์ หรือกรณีโครงการโฮปเวลล์ เนื่องจากได้ตรวจสอบเอกสารแล้วพบว่าการดำเนินการเกี่ยวกับ คดีโฮปเวลล์โดยเฉพาะรายละเอียดของสัญญา ตั้งแต่ที่มาของโครงการ การอนุญาต การดำเนินการ การบอกเลิกสัญญา ยังมีประเด็นที่ไม่ชอบมาพากลทางด้านกฎหมาย จึงไม่จำเป็นที่จะต้องจ่ายค่าเสียหายรวมทั้งหมด 2.4 หมื่นล้านบาท

สำหรับหนังสือที่มายื่นขอในวันนี้นั้น (22 พ.ย.62) ได้ขอร้องกระทรวงการคลังใน 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. หากกระทรวงการคลังรับทราบเรื่องแล้วขอให้ไปนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อแจ้งเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าได้รับเอกสารดังกล่าวแล้ว และขอให้ ครม.มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการมาดูแลเรื่องนี้ เพื่อหาข้อยุติ และ 2.ขอให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด โดยของดการบังคดี เพื่อให้สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ

นายนิติธรกล่าวว่า ข้อเท็จจริงของโครงการโฮปเวลล์นั้น ชี้ขาดได้ด้วยเอกสาร เนื่องจากมีการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดพบว่า หลายกระบวนการไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย สัญญาจึงไม่น่าจะมีผลบังคับ ตั้งแต่ความผูกพันของโครงการที่กระทรวงการคมนาคมได้รับมอบอำนาจให้ไปลงนามแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขณะที่ในสัญญาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไม่ได้เป็นไปตามมติ เนื่องจากในสัญญา ครม. อนุมัติให้บริษัท โฮปเวลล์ (ฮ่องกง) จำกัด เป็นผู้ลงนามสัญญา ไม่ได้มีมติ ครม. ที่อนุมัติให้ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ลงนามสัญญาโครงการโฮปเวลล์เลย ซึ่งถือว่าเป็นข้อที่ผิดปกติทั้งสิ้น เรื่องนี้มีเอกสารเป็นพยาน ที่เป็นเอกสารของหน่วยงานรัฐทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้นไม่พบความสุจริตในโครงการดังกล่าว คาดว่าเป็นการร่วมกันดำเนินการเข้ามาค้าความ โดยสาเหตุที่ทำให้สันนิษฐานเช่นนั้นเป็นเพราะว่า หลังจากที่มีการเซ็นสัญญาร่วมกันแล้ว บริษัท โฮปเวลล์ (ฮ่องกง) จำกัด และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ได้ขายหุ้นออกไป มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท และพบว่ามีบริษัท United Success ได้เข้ามารับซื้อหุ้นทันที ซึ่งหลังจากสอบตรวจข้อมูลของบริษัทที่รับซื้อแล้ว พบว่าบริษัทตั้งอยู่สาธารณรัฐมอริเชียส และไม่ได้ประกอบกิจการ