กสิกรไทยแนะคลังปฏิรูปภาษี VAT-มนุษย์เงินเดือน

ย้ำศก.ไทยเกินดุลฯกดบาทแข็ง 29.25 บ./ดอลลาร์ ลากยาวสิ้นปีหน้า

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2563 ทิศทางเศรษฐกิจโลกยังเสี่ยงเผชิญกับความท้าทายจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ส่งผลให้ภาวะการค้าโลกยังคงซบเซา ทำให้ตลาดยังมองความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า ส่วนเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงเหลือแค่ 2.7% ในสิ้นปี 63 เนื่องจากคาดว่าการส่งออกไทยจะถูกกดดันจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ส่งผลกระทบให้การผลิตและการจ้างงานอ่อนแอลงกดดันกำลังซื้อในประเทศ

อย่างไรก็ดี ประเทศจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลัง เนื่องจากขณะนี้นโยบายการเงินเริ่มตัน ดอกเบี้ยต่ำมากและต่ำที่สุดในประวัติการณ์ แต่ประเทศไทยถือว่ายังพื้นที่ฐานะการคลังที่สามารถใช้ได้ โดยเฉพาะการปฏิรูปด้านภาษี อาทิ ภาษีนำเข้า, ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือภาษีมนุษย์เงินเดือน ทำอย่างไรให้การบริโภคภายในประเทศกลับมาคึกคักมากขึ้น

“การพิจารณา ภ.ง.ด.รายการลดหย่อนภาษี อยู่ในโลกความเป็นจริงขนาดไหน เช่น ผู้เสียภาษีใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ 6 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งไม่น่าจะสะท้อนความเป็นจริง เพราะคำนวณแล้วคนไทยใช้เงินวันละ 180 บาทต่อวัน เพราะฉะนั้นถ้ารัฐเพิ่มการลดหย่อนเหมือนคล้ายๆ เพิ่มทุนให้กับผู้บริโภค ควรเป็นสิ่งที่ต้องศึกษา”

นายกอบสิทธิ์กล่าวว่า สิ่งที่สังเกตเห็นในพระราชบัญญัติอีอีซี คนที่มาทำงานในเขตอีอีซีจะจ่ายภาษีแค่ 17% แต่ทำไมคนไทยต้องเสียภาษีถึง 35% แม้ว่าอยากจะดึงดูดให้คนต่างชาติมาทำงานในประเทศ แต่ก็เป็นสิ่งที่มีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น ทั้งนี้การจะใช้นโยบายการคลังอาจจะเกรงว่าถ้ามูดีส์กับฟิตช์เรตติ้ง (บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ) มองฐานะการคลังของไทยดีอยู่อาจจะอัพเกรดอันดับของประเทศขึ้นมา แต่ต้องถามว่าการที่ไทยถูกยกระดับมีผลดีสำหรับใคร ดีสำหรับคนไทยหรือไม่ การที่บอกว่าประเทศไทยเป็น Safe Haven จริงๆ ก็มาจากมุมมองของต่างชาติไม่ใช่มุมของคนไทย

ส่วนทิศทางนโยบายการเงิน คาดว่า กนง.มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยแต่คงมาจากผลของนโยบายรัฐไม่ค่อยบรรลุเป้าหมาย ซึ่งต้องกลับหันไปพึ่งพานโยบายการเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกรอบหนึ่ง
ส่วนกรอบค่าเงินบาทประเมินว่าครึ่งปีแรกของปี 2563 อยู่ที่ 29.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และในช่วงสิ้นปี 2563 จะอยู่ที่ระดับ 29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เหตุผลเพราะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังมีแนวโน้มเกินดุลในระดับสูงกว่า 31,500 ล้านเหรียญสหรัฐ สะท้อนความไม่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนที่ต่ำ ทำให้ยังมีแนวโน้มที่เงินทุนจะไหลเข้าไทย รวมถึงปริมาณเงินฝากที่อยู่ในบัญชีเงินตราต่างประเทศ (FCDs) ที่สูงกว่า 17,018 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทให้แข็งค่าต่อไป

“ปัญหาทางโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย ทำให้การบริโภคน้อย การลงทุนน้อย การจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐน้อยเป็นสัดส่วนของจีดีพี เหมือนคล้ายๆ เรามีจีดีพีเหลือ ซึ่งไปให้ต่างชาติใช้ ไม่ว่าจะเป็นรูปของนักท่องเที่ยวหรือการส่งออก ถึงแม้ว่าส่งออกจะหดแต่นำเข้าเราหดมากกว่า คล้ายกับรายได้บริษัทลดลงแต่เราลดค่าใช้จ่ายเร็วกว่า ทำให้รายได้หายไปบริษัทก็ยังมีกำไรอยู่” นายกอบสิทธิ์กล่าว