“เอเอ็มซี” กำไรกระฉูดสวนเศรษฐกิจแย่-BAM เล็งปันผล 6%

เศรษฐกิจขาลงธุรกิจ “เอเอ็มซี” กำไรโตกระฉูด บล.เอเซีย พลัส ประเมินปีนี้ “เจเอ็มที-ชโย กรุ๊ป” กำไรพุ่งกว่า 20-30% ส่วนปี”63 คาดยังเติบโตตัวเลข 2 หลัก ฟาก BAM เทรดวันแรก ราคาเหนือจอง 5.14% “บรรยง” มั่นใจกำไรแจ่มทุกปี ชูปันผล 5-6%

รายงานจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยของบริษัทได้จัดทำประมาณการกำไร ปี 2562 ของหุ้นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (AMC) โดย บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) คาดว่าจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 661 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หลังงวด 9 เดือนแรกทำกำไรสุทธิที่ 483 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 คาดว่ากำไรสุทธิจะอยู่ที่ 803 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.4% ทั้งนี้ แนะนำเปลี่ยนเข้ามาถือ (switch) JMT ที่ราคาเหมาะสม 21.80 บาท อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับขึ้น (upsides risk) มีค่อนข้างจำกัด

ด้าน บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) คาดว่ากำไรสุทธิปี 2562 จะอยู่ที่ 118 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.6% หลังงวด 9 เดือนแรก ทำกำไร 92 ล้านบาท ส่วนปี 2563 คาดว่ากำไรสุทธิจะอยู่ที่ 136 ล้านบาท เติบโต 15.3% ทั้งนี้ แนะนำทยอยสะสมเมื่อราคาอ่อนตัวลงที่ราคา 6.20 บาท

ส่วน บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ที่เพิ่งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถประเมินกำไรได้ เนื่องจากต้องรอพูดคุยกับบริษัทก่อน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องภาษีจะเป็นปัจจัยลบที่กระทบ BAM ในปีหน้า เพราะต้องเสียภาษี 20% จากเดิมที่ไม่ต้องเสีย นอกจากนี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นขาลงอาจส่งผลกระทบมายังความต้องการบ้านมือสองของ BAM รวมถึงความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะชะลอการชำระคืนหนี้ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี

ทั้งนี้ BAM เข้าเทรดในกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน หมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ โดยมีลักษณะการประกอบธุรกิจคล้ายกับ JMT และ CHAYO ซึ่งราคาหุ้นทั้ง 2 บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ BAM เข้ามาซื้อขายมากนัก เนื่องจากการดำเนินงานของแต่ละบริษัทยังมีความแตกต่างกัน โดย BAM เน้นซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่มีหลักประกัน นำมาปรับโครงสร้างหนี้ หรือประนอมหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้ได้ผ่อนชำระคืนหนี้ในมูลค่าที่น้อยกว่าเดิม ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระคืนหนี้ BAM จะมีการฟ้องร้องเพื่อยึดทรัพย์ไปขายทอดในตลาด ขณะที่ CHAYO มีการดำเนินธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน แต่จะเน้นซื้อหนี้ที่กระบวนการฟ้องร้องใกล้แล้วเสร็จ เมื่อมีการยึดทรัพย์ก็จะนำมาขายทอดตลาด ส่วนของ JMT จะแตกต่างไปจาก 2 บริษัทแรก โดยเน้นซื้อสินทรัพย์ที่ไม่มีหลักประกัน ได้แก่ หนี้บัตรเครดิต และหนี้รายย่อย ซึ่งราคารับซื้อจะถูกกว่าสินทรัพย์ที่มีหลักประกัน อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2560-2561 JMT ได้เริ่มทยอยซื้อสินทรัพย์ที่มีหลักประกันเข้ามาบริหารจัดการ แต่สัดส่วนรายได้จากสินทรัพย์ที่มีหลักประกันยังน้อยมากเมื่อเทียบกับ BAM และรายได้หลักของบริษัทยังมาจากสินทรัพย์ที่ไม่มีหลักประกันเป็นหลัก

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานกรรมการบริหาร BAM กล่าวว่า ปี 2562 นี้ บริษัทได้ปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้ โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท จากระดับรายได้ปกติที่ 1.7-1.8 ล้านบาท เนื่องจากมีการขายสินทรัพย์รายการพิเศษให้แก่ผู้ซื้อรายใหญ่ ขณะที่ในปี 2563 BAM มีแผนจะซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) เข้ามาบริหารเพิ่ม ไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท หรือไม่ต่ำกว่าสินทรัพย์ที่ซื้อเข้ามาบริหารในปี 2562 โดยคาดว่าจะช่วยหนุนให้ผลการดำเนินงานในปีหน้าสามารถทำรายได้ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจุบัน BAM มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวม 4.55 แสนล้านบาท แบ่งเป็น NPL 4 แสนล้านบาท (มีหลักประกัน 2 แสนล้านบาท) และ NPA อีก 5.5 หมื่นล้านบาท โดยในปีหน้ามีแผนเปิดสาขาเพิ่มอีก 4 สาขา ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ได้แก่ ดอนเมือง บางนา สมุทรปราการ และกรุงเทพฯด้านตะวันตก จากปัจจุบันที่มีสาขาทั้งหมดทั่วประเทศ 26 สาขา

“ปัจจุบัน NPL ทั้งระบบอยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท เชื่อว่าในปีหน้า NPL ในระบบจะยังเติบโตราว 3% จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ส่งผลให้ธนาคารมีการขายหนี้เสียออกมามากขึ้น” นายบรรยงกล่าว

นายบรรยงกล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา BAM เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ SET เป็นวันแรก โดยมีราคาเปิดที่ 18.40 บาท ปรับเพิ่มขึ้นราว 5.14% จากราคาจองซื้อไอพีโอที่ 17.50 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่ค่อนข้างน่าพอใจ ขณะที่การจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (greenshoe option) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น บริษัทไม่กังวลว่าหลังจากหมดช่วงเวลาการทำกรีนชูออปชั่นแล้ว ราคาหุ้นจะร่วงลงต่ำกว่าระดับราคาจองซื้อเหมือนกรณีของหุ้นไอพีโอตัวอื่น ๆ ที่ใช้วิธีการเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจาก BAM เป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี สามารถทำกำไรได้ทุกปี และในอนาคตยังมีทิศทางการเติบโตต่อเนื่อง และยังมีโอกาสขยายตัวได้ดีไม่ว่าจะในภาวะเศรษฐกิจขาขึ้นหรือขาลง

“การลงทุนใน BAM เปรียบเสมือนการลงทุนในกองรีท (REITs) เนื่องจากมีความมั่นคง ปลอดภัย มีสินทรัพย์ที่มั่นคง และสินทรัพย์ในพอร์ตส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีหลักประกัน โดยคาดว่าหุ้น BAM จะสร้างผลตอบแทน (เงินปันผล) แก่นักลงทุนได้ราว 5-6% ต่อปี จึงเหมาะแก่การลงทุนระยะยาว” นายบรรยงกล่าว