ภาษีที่ดิน หนุนสินเชื่อแลนด์โลนพุ่ง 1.6 หมื่นล้าน กสิกรไทย ชี้ เศรษฐีแห่นำที่ดินลงทุน

กสิกรไทย ไพรเวทแบงก์ ชี้ ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง หนุนลูกค้าเศรษฐีแห่นำที่ดินมาช่วยบริหาร 8 หมื่นล้านบาท หรือ 400 แปลง หวังลดภาระภาษี-สร้างผลตอบแทนลงทุน ดันยอด Land loan ปี 63 พุ่ง 1.6 หมื่นล้านบาท เผยยอดลูกค้าเติบโต 4% สินทรัพย์ AUM แตะ 7.5 แสนล้านบาท โต 7% โชว์สร้างผลตอบแทนผ่าน K-Alpha 12.5%

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ลูกค้า Private Banking มีความสนใจเข้ามาให้ธนาคารบริหารจัดการเรื่องที่ดินมากขึ้น หลังจากกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีผลในปี 2563 โดยธนาคารมีลูกค้าที่เข้ามาทำ Land loan for Investment เพิ่มขึ้น และโดยในปี 2563 คาดว่าจะมีมูลค่าวงเงินสินเชื่อใหม่เข้ามา 1 หมื่นล้านบาท จากปีนี้ที่อนุมัติวงเงินสินเชื่อไปจำนวน 6,000 ล้านบาท โดยที่ดินลูกค้าเข้ามาจะเป็นกรุงเทพฯ ประมาณ 90% และอีก 10% จะเป็นต่างจังหวัด เช่น ภูเก็ต และเชียงใหม่ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขในปี 2562 มีลูกค้านำที่ดินเข้ามาให้ธนาคารบริหารจำนวน 8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 400 แปลง ประมาณ 92 ครอบครัว ซึ่งมีมูลค่าที่ดินจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารได้อนุมัติไปแล้ว 32 ครอบครัว และอยู่ระหว่างอนุมัติอีก 30 ราย มูลค่าที่ดินรวม 9,000 ล้านบาท ให้วงเงินสินเชื่อ 6,000 ล้านบาท แต่มีการเบิกใช้ 2,600 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ธนาคารได้ตั้งทีมงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะจำนวน 4 คน รวมถึงมีพันธมิตร เนื่องจากเรื่องที่ดินเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะที่ดินบ้างแปลงถือกรรมสิทธิหลายคน หรือเป็นที่ดินค่อนข้างเก่าจึงต้องมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล ซึ่งปกติเฉลี่ยจะมีลูกค้าเข้ามาให้บริหารเรื่องที่ดิน 10 แปลงต่อวัน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีต้องการมีผลตอบแทนเฉลี่ยสูง 1% มากกว่าต้นทุนอัตราดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชี หรือ MOR-4.5% คิดเป็นดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.5-2.6%

“ภาษีที่ดินในหลายประเทศก็มี ซึ่งต้องการให้คนใช้ประโยชน์จากที่ดิน เช่นเดียวกับไทยที่ต้องการให้คนที่นั่งทับที่ดินนำออกมา ซึ่งเราคาดว่าลูกค้าจะเอามามากขึ้น ซึ่งเราจะช่วยบริหารจัดการที่ดินให้มีประโยชน์และสร้ายรายได้เพื่อนำไปจ่ายภาษี อย่างไรก็ดี หากทะลักเข้ามามากๆ อาจจะทำไม่ไหว แต่เราก็มีทีมงานคอยดูแลอย่างดีที่สุด”

นายจิรวัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ผลการดำเนินงานการบริหารความมั่งคั่ง (Private Banking) ในปี 2562 ธนาคารมีลูกค้าอยู่ที่ 1.16 หมื่นราย เติบโต 4% ขณะที่สินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) อยู่ที่ 7.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น สินทรัพย์การลงทุนประมาณ 70% หรือราว 4.54 แสนล้านบาท เติบโต 7% จากปีก่อนอยู่ที่ 4.24 แสนล้านบาท และอีก 30% จะเป็นสินทรัพย์เงินฝาก ซึ่งปัจจุบันลูกค้ามี AUM เฉลี่ยอยู่ที่ 70 ล้านบาท

Advertisment

อย่างไรก็ดี ในปีนี้แม้ว่าภาพรวมตลาดการลงทุนในช่วงต้นปีดูจะไม่ค่อยดีมากนัก และยังมีความผันผวนสูง ธนาคารจึงแนะนำปรับพอร์ตการลงทุน (K-Alpha) โดยแนะนำผ่านการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง ทำให้ธนาคารสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้ลูกค้าได้อยู่ที่ 12.5% โดยที่ความเสี่ยงของพอร์ตอยู่ที่ 4.5% และผลตอบแทนต่อหนึ่งหน่วยความเสี่ยงของพอร์ต K-Alpha สูงถึง 2.8%

และกลยุทธ์การลงทุนในปี 2563 จะมีอยู่ 5 กลยุทธ์ คือ 1.กระจายความเสี่ยงและเพิ่มความคล่องตัวของพอร์ต 2.ป้องกันพอร์ตด้วยสินทรัพย์ปบอดภัย เช่น ทองคำ และการลงทุนแบบ Hedged Fund ที่ใช้กลยุทธ์การ Long และ Short หุ้นพร้อมๆ กัน 3.เน้นกลยุทธ์ Carry การถือครองในสินทรัพย์ที่มีรายได้ประจำ เช่น ในกลุ่ม High Yield ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า 4.ระมัดระวังการลงทุนในหุ้น โดยควรเลือกกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตของกำไรสุทธิที่ดี เช่น กลุ่มเฮลท์แคร์ เทคโนโลยี และ 5.สร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมในสินทรัพย์ทางเลือกอย่างอสังหาริมทรัพย์ หุ้นนอกตลาด เป็นต้น

“การเติบโตของลูกค้ามั่งคั่งในเอเซียเฉลี่ยอยู่ที่ 8-10% แต่ของไทยน่าจะโตข้ากว่าค่าเฉลี่ย แต่เราเชื่อว่ามีโอกาสมาก และปีนี้เศรษฐกิจโลกโต 3% และปีหน้าน่าจะโตได้ 3.3% เชื่อว่าสถานการณ์ที่จับตายังเป็นการเจรจาการค้าต่อไป แต่เราก็แนะนำใหเลูกค้ากระจายความเสี่ยงการลงทุน”