“สมาคมธนาคาร” ดัน ATM สีขาว ดึงบริษัทภายนอกคุมบริหารตู้

ภาพ: Artur Widak/NurPhoto via Getty Images

สมาคมธนาคารไทยกางแผนปี”63 ดัน “เอทีเอ็มสีขาว” ดึงบริษัทภายนอกบริหารเครื่องเอทีเอ็ม “ปรีดี” ยันได้เห็นแน่นอน-หลายแบงก์ตกลงเข้าร่วม พร้อมลุยเชื่อม “ระบบชำระเงินประเทศอาเซียน” นำร่อง “สิงคโปร์” เตรียมทำแผน 5 ปีใหม่

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ในปี 2563 สมาคมมีหลายเรื่องที่ต้องผลักดันต่อ อย่างเรื่องการใช้เอทีเอ็มร่วมกันในระบบธนาคาร หรือเอทีเอ็มสีขาว (white lable ATM) ที่ก่อนนี้ได้ให้บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ (ITMX) ศึกษา ซึ่งปัจจุบันศึกษาโมเดลเสร็จแล้ว โดยมี 2 โมเดล ได้แก่ โมเดลแรก เปิดให้มีผู้รับซื้อ (vender) เข้ามาซื้อเครื่องเอทีเอ็มของ 4 ธนาคารใหญ่ จากนั้นธนาคารจะเข้ามาใช้บริการเอทีเอ็ม โดยต้องเสียค่าบริการ ส่วนอีกโมเดล เอทีเอ็มยังเป็นของแต่ละธนาคาร แต่ให้ vender มาช่วยบริหารจัดการให้ โดยคิดค่าบริหารจัดการ

ทั้งนี้ vender ที่เป็นคนกลาง จะเป็นบริษัทในประเทศไทยที่ดูแล และทำเรื่องเอทีเอ็มอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเข้ามาหารือกันแล้ว

“เอทีเอ็มสีขาวก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดได้ แต่ยังไม่รู้เวลาที่แน่ชัด แต่มีโอกาสเห็นแน่นอน โดยจะทำหรือไม่ทำขึ้นอยู่กับความคิดมุมมองของผู้บริหารธนาคารที่จะต้องคิดและตัดสินใจ ซึ่งสมาคมอยากให้เป็นความสมัครใจ อาจจะจับเป็นกลุ่ม เพราะไม่จำเป็นต้องทุกธนาคารก็ได้ เช่น ธนาคารออมสินจับกับธนาคารกสิกรไทย หรือจะทำทั้งหมด ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร อย่างไรก็ดี การดำเนินการจะต้องมี scale จึงจะมีต้นทุนที่ถูกลง เช่น มีเอทีเอ็มร่วมกัน 5,000 ตู้ แต่หากมีธนาคารเข้าร่วมเยอะเป็น 8,000 ตู้ ต้นทุนก็จะถูกลงอีก ซึ่งตอนนี้มีธนาคารให้ความสนใจร่วมจะทำจนจะถึง scale ที่จะทำได้แล้ว แต่รูปแบบการทำไม่ง่าย ยุ่งยาก แต่มีความชัดเจนขึ้นมาก” นายปรีดีกล่าว

ปรีดี ดาวฉาย

นายปรีดีกล่าวอีกว่า สิ่งที่จะเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปีหน้าอีกเรื่องหนึ่ง จะเป็นเรื่องการโอนเงินต่างประเทศ (cross border) โดยผ่าน Asean Payment Network ซึ่งจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน มีโครงสร้างพื้นฐานผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยมีบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ (ITMX) เป็นระบบกลางการเชื่อมต่อ ซึ่งตอนนี้พยายามเชื่อมกับประเทศสิงคโปร์ ส่วนประเทศอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับระบบกลางของแต่ละประเทศ ซึ่งหากประเทศไหนมีระบบตัวกลางเชื่อมต่อเหมือน ITMX ก็สามารถเชื่อมกันได้ง่าย เช่น มาเลเซีย เป็นต้น แต่หากเป็นประเทศที่ไม่มีระบบกลาง เช่น สปป.ลาว กัมพูชา เป็นต้น อาจจะต้องเชื่อมกันเป็นคู่ เช่น แบงก์เชื่อมกับแบงก์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายในต้นปี 2563 สมาคมธนาคารไทยจะมีการวางแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 5 ปีใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการต่อยอดและดำเนินการต่อจากแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีเดิม ที่จะครบภายในกลางปี 2563 โดยสิ่งที่สมาคมได้ทำไปแล้วในแผน 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของระบบการชำระเงิน เช่น บริการรับโอนเงินรูปแบบใหม่ หรือพร้อมเพย์ การเปลี่ยนบัตรแถบแม่เหล็กเป็นชิปการ์ด คิวอาร์โค้ด เป็นต้น การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (financial inclusion) ผ่านโครงการการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐาน (basic banking account) การให้ความรู้ทางการเงิน การเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเพื่อสร้างพื้นฐานการเติบโต เรื่องจรรยาบรรณธนาคาร (banking code of conduct) และพัฒนาด้านบุคลากร

“ทุก ๆ 6 เดือน เราจะมีการพบปะพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อรายงานความคืบหน้าของแผน 5 ปี ว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง ซึ่งในปีหน้าจะเริ่มใส่รายละเอียดเพิ่มเติมลงไปในแผนเดิมที่ครบ อาจจะเป็นไอเดียใหม่ ๆ ที่ธนาคารสมาชิกคิด ไม่ได้เป็นแผนใหม่ทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นรูปธรรมมากขึ้น” นายปรีดีกล่าว