โบรกหั่นเป้ากำไรบจ.โตต่ำ”เทรดวอร์-บาทแข็ง”ทุบ

โบรกฯปรับลดเป้ากำไร บจ.ปี”62 “บล.เอเซีย พลัส” คาดโตแค่ 9.63 แสนล้านบาท เหตุ “สงครามการค้า-ค่าบาทแข็ง” กดดันกำไรกลุ่มหุ้น “ปิโตรเคมี-ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์-พลังงาน” ส่วนปี”63 คาดกำไร บจ.โต 1 ล้านล้านบาท กลุ่ม “อสังหาฯ-แบงก์” ยังกดดัน ด้าน “บล.กสิกรไทย” ชี้ปี”63 มีสัญญาณเชิงบวก ศก.โลกหนุนกำไร บจ.โตดีขึ้น กลุ่ม “global play” รับอานิสงส์

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บล.เอเซีย พลัส ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปี 2562 จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 9.99 แสนล้านบาท เหลือ 9.63 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีกำไรรวม 9.72 แสนล้านบาท กำไร บจ.ลดลง 3.96% ขณะที่กำไรต่อหุ้น (EPS) ปรับลดลงจากเดิมที่ 106.00 บาท/หุ้น มาอยู่ที่ 92.10 บาท/หุ้น หรือลดลง 8.4%

โดยสาเหตุมาจากผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจต่างประเทศ (global play) อาทิ กลุ่มปิโตรเคมีและพลังงานที่ได้รับแรงกดดันจากค่าการกลั่นที่ปรับลดลง การขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน (stock loss) และส่วนต่างที่ได้รับจากการขาย (spread) ของปิโตรเคมีที่ปรับลดลง จากผลกระทบของสงครามการค้า ขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าเช่นกัน รวมถึงได้รับแรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่มที่คาดว่าอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS growth) มีแนวโน้มหดตัวมากที่สุดในปี 2562 ได้แก่ ปิโตรเคมี, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ พลังงาน ส่วนกลุ่มที่คาดว่ากำไรจะเติบโตสูงสุด ได้แก่ ไอซีที, การแพทย์ และอาหาร

“กำไร บจ.ช่วง 9 เดือนแรกปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 7 แสนล้านบาท คิดเป็น 70% ของเป้ากำไรเดิมที่ 9.99 แสนล้านบาท ซึ่งเรามองเป็นไปได้ยากที่กำไรจะเติบโตขึ้นมาอีก 30% ในไตรมาสสุดท้าย โดยหลังจากที่นักวิเคราะห์เข้าสำรวจและพูดคุยกับบริษัท จึงได้มีการปรับเป้ากำไรใหม่ 50 บริษัท รวม 4.8 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะมี 14 บริษัทที่ได้รับการปรับเป้ากำไรเพิ่มรวม 1.2 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อหักลบกันแล้วก็ส่งผลให้กำไร บจ. ปี 2562 ไม่เป็นไปตามเป้าเดิม” นายชาญชัยกล่าว

ส่วนแนวโน้มกำไร บจ. ในปี 2563 คาดจะทำได้ราว 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น EPS 95.70 บาท/หุ้น โดยคาดว่าประเด็นสงครามการค้าจะมีผลกดดันกำไร บจ.ต่อเนื่อง และคาดว่าจะยืดเยื้อไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐรอบหน้า (เดือน พ.ย. 2563) ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยที่งบประมาณปี 2563 ของไทยที่เบิกจ่ายได้ล่าช้าด้วย

“กลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะเผชิญกับปัจจัยกดดันต่อในปี 2563 ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เชื่อว่าจะยังได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) รวมถึงเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มโตชะลอลงจะเป็นแรงกดดันต่อแรงซื้อในอุตสาหกรรม ขณะที่กลุ่มธนาคารเชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตของสินเชื่อ (loan growth) เร่งตัวได้ไม่มาก และมาตรฐานทางบัญชีใหม่ TFRS9 ที่จะกระทบให้การตั้งสำรองหนี้เพิ่ม” นายชาญชัยกล่าว

นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า กำไร บจ.ปี 2562 มีความเสี่ยงเติบโตได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ โดยคาดว่า EPS ปี 2562 จะอยู่ที่ 93.00 บาท/หุ้นเท่านั้น จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 110.00 บาท/หุ้น โดยมีสาเหตุมาจากสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบต่อกำไรของกลุ่ม global play เช่น ปิโตรเคมี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และพลังงาน ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น กลุ่มธนาคารได้รับผลกระทบจากภาวะการก่อตัวของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และกลุ่มรับเหมาก่อสร้างได้รับผลกระทบจากการที่ผู้รับเหมาก่อสร้างในต่างประเทศเข้ามาแข่งขันมากขึ้น

ส่วนแนวโน้มกำไร บจ. ปี 2563 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 2562 โดยคาดว่า EPS จะอยู่ที่ 103.60 บาท/หุ้น เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกของเศรษฐกิจโลก เช่น ราคาน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นยืนเหนือ 60 เหรียญ/บาร์เรล และ การจ้างงานของสหรัฐที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำไรของหุ้นในกลุ่ม global play

“ปี 2563 ความเสี่ยงเชิงนโยบายของไทย (policy risk) คาดว่าจะลดลง ทั้งจากมาตรการ LTV ที่น่าจะผ่อนคลายลง หลังประกาศใช้ครบ 1 ปีในเดือน เม.ย. และเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายสุนทรกล่าว