ทีเอ็มบี เปิดตัว “TMB Advisory” บริการที่ปรึกษาด้านการลงทุน

ทีเอ็มบียกระดับบริการด้านการลงทุน ส่ง “TMB Advisory” หนุนให้คำปรึกษาลูกค้าผู้ลงทุนในยุคดิจิทัล ด้วยช่องทางที่สะดวก เข้าถึงง่าย ชี้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวม (AUM) เติบโต 17% แตะ 2.63 แสนล้านบาท สูงกว่าอุตฯ ที่ขยายตัว 6% พร้อมเผยจับมือ Amundi บริษัทจัดการลงทุนรายใหญ่ของโลกช่วยจัดพอร์ตรองรับความเสี่ยงต่ำ-สูง หนุนลูกค้าขยายตัวเพิ่มจากเดิมที่ 2.6 แสนคน

นายรูว์ ไฮซแมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ทีเอ็มบีนับเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่เปิดกว้างเสรีภาพการลงทุนตามความต้องการและเป้าหมายของลูกค้าทุกคน ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยได้มีการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายให้กับลูกค้าด้วยการทลายข้อจำกัดเรื่องการสังกัดค่ายของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เพิ่มอิสระและโอกาสเพื่อให้ลูกค้าได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น

“ทั้งนี้ จากการเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2557 ถือว่าสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าผู้ลงทุนได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ทีเอ็มบีมีลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่า 30% โดยปัจจุบันลูกค้าที่นิยมลงทุนในรูปแบบกองทุนรวมมีจำนวนกว่า 262,000 ราย แยกเป็นสัดส่วนของกลุ่มลูกค้ารายใหญ่อยู่ที่ 35% และอีก 65% เป็นกลุ่มลูกค้ารายย่อย

โดย 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค-ส.ค 60) ทีเอ็มบีมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวม (AUM) อยู่ที่ 2.63 แสนล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปีก่อนหน้า (สิ้นปี 2559) และเมื่อเทียบกับทั้งระบบอุตสาหกรรมขยายตัวอยู่เพียง 6% และมีความมั่นใจว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง”นายรูว์ไฮซแมนกล่าว
ด้านนางมารี แรมลี หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ทีเอ็มบี กล่าวว่า ทีเอ็มบีมุ่งมั่นที่จะตอบโจยท์ลูกค้า โดย TMB Advisory บริการที่ปรึกษาด้านการลงทุนที่เปิดเสรีแบบ Open Architecture ได้คัดสรรกองทุนคุณภาพจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนชั้นนำของประเทศ 8 แห่ง ที่มีความเชี่ยวชาญในสินทรัพย์หลากหลายประเภททั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับลูกค้า ประกอบด้วย บลจ.อเบอร์ดีน บลจ.ซีไอเอ็มบี พรินซิเพิล บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) บลจ.ทหารไทย บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) บลจ.วรรณ บลจ.ทิสโก้ และบลจ.กสิกรไทย ที่เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร และมีความเชี่ยวชาญการลงทุนที่แตกต่างกัน เรียกได้ว่า “รวบรวมกองทุนรวมดีๆ ผลตอบแทนติดอันดับทุกกอง มาไว้ที่ ทีเอ็มบี ที่เดียวก็ว่าได้”

ทั้งนี้ บริการ TMB Advisory จะช่วยวิเคราะห์ข้อมูลการรับความเสี่ยงในการลงทุนของลูกค้า พร้อมๆ กับความต้องการของลูกค้า แล้วให้คำปรึกษาการลงทุน เพื่อให้ลูกค้าสามารถได้รับผลตอบแทนที่ต้องการในระยะยาวและไปถึงเป้าหมายการเงินที่วางไว้ ซึ่งการจะประสบความสำเร็จในการลงทุนจะประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ การจัดสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation) การเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุน (Security Selection) และการจับจังหวะการลงทุน (Market Timing) โดยลูกค้าที่ใช้บริการ TMB Advisory จะมี Amundi พันธมิตรใหม่จากฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบริษัทจัดการลงทุนรายใหญ่ของโลก ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการเป็นอันดับ 1 ในยุโรป มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มาช่วยออกแบบโมเดลพอร์ตการลงทุน 5 รูปแบบ เพื่อแนะนำการลงทุนให้กับลูกค้าตามความเสี่ยงที่ลูกค้ารับได้” นางมารีกล่าว

อย่างไรก็ตาม พอร์ตการลงทุนทั้ง 5 รูปแบบ จัดไว้สำหรับลูกค้าที่รับความเสี่ยงได้ต่ำไปจนถึงรับความเสี่ยงได้สูง ดังต่อไปนี้ 1.พอร์ต Risk Averse ไม่มีการลงทุนในหุ้น เน้นคุ้มครองเงินต้น โดยจะลงทุนในตราสารหนี้ไทย และตราสารหนี้ต่างประเทศ 100% 2.พอร์ต Conservative ลงทุนในหุ้น 20% ที่เหลือลงทุนตราสารหนี้ 80% 3.พอร์ต Balanced ลงทุนในหุ้น 50% และตราสารหนี้อีก 50% 4.พอร์ต Advanced ลงทุนในหุ้น 70% และตราสารหนี้อีก 30% 5.พอร์ต Aggressive ลงทุนในหุ้น 100% ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง
โดยทุกรูปแบบจะเน้นจัดสรรสัดส่วนการลงทุนระยะยาว กระจายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยแต่ละพอร์ตจะคัดเลือกกองทุนและแนะนำสัดส่วนรายกองทุน ว่าควรจะลงทุนในกองทุนใดสัดส่วนเท่าไหร่ นอกจากนี้ จะมีการแนะนำปรับพอร์ตการลงทุนทุกเดือน เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะตลาด และควบคุมความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนให้อยู่ในกรอบที่วางไว้ โดยบริการนี้จะไม่มีข้อผูกมัด และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกด้วย

นางมารีกล่าวต่อว่า สำหรับปีนี้ทีเอ็มบีมองภาพรวมยังเป็นทิศทางของตลาดหุ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยและยิวด์ยังอยู่ในระดับต่ำ และสามารถหนุนการลงทุนในตลาดหุ้นได้ โดยจะเห็นได้จากเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย (ฟันด์โฟลว์) เข้ามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับกองทุนที่แนะนำในช่วงนี้จะเป็นกลุ่มกองทุน Emerging โดยเฉพาะโซนเอเชีย เนื่องจากมองว่าในแง่ของ Valuation ยังมีความน่าสนใจ ประกอบกับบริษัทต่างๆ ในเอเชียที่เป็นประเทศกำลังพัฒนามีผลการดำเนินงานที่ดี และมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ปัจจุบันกลุ่มกองทุน Emerging โซนเอเชีย เติบโตเฉลี่ย 26% เมื่อเทียบตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน

รวมทั้ง P/E ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ ช่วงไตรมาสที่ 4 ทีเอ็มบีมองกลุ่มกองทุนไทยที่จะเริ่มกลับมาแอคทีฟมากขึ้น เนื่องจากปีนี้ตลาดหุ้นไทยยังไม่ค่อยปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบัน ประเทศไทยเติบโตประมาณ 6% ในขณะที่ประเทศฟิลลิปแนส์ เติบโตที่ 17% และประเทศอินโดนีเซีย เติบโตที่ 10% ทำให้โอกาสของตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกมาก

“ยกตัวอย่าง กองทุน บลจ.กสิกรไทย แนะนำกอง K-gemo เนื่องจากมองว่า Valuation ยังมีความน่าสนใจ และสูงขึ้นมาก และปีนี้ K-gemo ยังปรับขึ้นไม่แรงมากเมื่อเทียบกับหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งกองทุน K-gemo จะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีมุลค่าตาราคาตลาด (market cap) อยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังเป็นขนาดที่น่าสนใจเพราะว่าในอนาคตหุ้นขนาดเล็กจะกลายเป็นหุ้นขนาดหญ่ได้ในอนาคต และบริษัทเหล่านี้ก็เป็นบริษัทที่มีการเติบโต โดยปัจจุบันกอง K-gemo มีผลการดำเนินงานเติบโตอยู่ที่ 10% เมื่อเทียบตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน” นางมารีกล่าว