ธปท.ชี้ส่งออกหดตัวกระทบจ้างงานมากขึ้น​

ธปท.รับเศรษฐกิจโลก-ไทยชะลอ ปริมาณการค้าโลกหาย กดส่งออกไทยหดตัว กระทบตลาดแรงงานชัดขึ้น เผยเห็นสัญญาณนายจ้างเลิกจ้าง-ลดเงินเดือน-ลดโอที แถมเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง ชี้ ลากยาวภาคบริโภคอ่อนแอ
 
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการสัมมนา “Analyst Meeting” ครั้งที่ 1/2563 ว่า ธปท.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2562 และ 2563 ลง สืบเนื่องมาจากภาคการส่งออกเป็นสำคัญ โดยในปี 2562 การส่งออกหดตัวกว่าที่คาด ส่วนในปี 2563 การส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ประกอบกับมีความเสี่ยงด้านต่ำที่มาจากภาคต่างประเทศที่กดดันปริมาณการค้าโลกให้ลดลงสิ้นปี 2562 การส่งออกติดลบ 3.3% แม้ว่าในปี 2563 ปริมาณการค้าโลกจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ไทยยังไม่ฟื้นตัว เป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ภาพการส่งออกที่หดตัวลง มีผลต่ออุปสงค์ของไทย โดยเฉพาะตลาดแรงงานที่เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้น หลังพบสัญญาณนายจ้างหยุดกิจการตั้งแต่ปลายปีก่อนและมีลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างชั่วคราวมีทิศทางเพิ่มขึ้น หรือมีการปรับรูปแบบการจ้าง เช่น รับค่าแรงเหลือ 75% การจ่ายค่าจ้างจากรายเดือนเป็นรายวัน หรือยกเลิกสัญญาจ้าง ซึ่งส่งผลต่อรายได้รวมและรายได้โอทีลดลง
นอกจากนี้ ตลาดแรงงานไทยยังเผชิญความเสี่ยงอีก 4 ด้าน คือ 1.การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ทำให้ตลาดแรงงานลดลง 2.ผู้ประกอบการนำระบบออโตเมชั่นมาในใช้แทนแรงงานมากขึ้น 3.การเข้าสู่ระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มมากขึ้น ทำให้การจ้างงานเปลี่ยนไป และ 4.ทักษะแรงงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น
“การส่งออกที่หดตัวตามปริมาณการค้าโลก เริ่มส่งผลต่อตลาดแรงงานชัดเจนขึ้นแล้ว แต่หากการส่งออกกลับมาก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยเจออยู่จะเป็นปัญหาลากยาว และในระยะถัดไปก็อาจจะกระทบต่อการบริโภคได้ ซึ่งปีนี้เรามองการบริโภคค่อนข้างลบมาจาก 4 ปัจจัย ทั้งตลาดแรงงาน ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง และภัยแล้งที่มาเร็วกว่าทุกปี”