แบงก์เฮ! ลดภาระตั้งสำรองหนี้ เกณฑ์ ธปท.หนุนอุ้มธุรกิจ SMEs พ้นวิกฤต

“ทีเอ็มบี” ชี้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้เอสเอ็มอีช่วยลดภาระแบงก์ตั้งสำรอง เผยหนี้เอสเอ็มอี 2.5 แสนล้านบาทมีโอกาสได้ปรับโครงสร้าง เหตุ ธปท.ผ่อนปรนให้ตั้งสำรองล่วงหน้าแค่ 12 เดือนได้ตาม “stage 1” ไม่ต้องตั้งตลอดสัญญา คาดจูงใจแบงก์ชะลอขายหนี้เสียหันปรับโครงสร้างหนี้แทน ฟากแบงก์ชี้ช่วยให้แก้ปัญหาหนี้เสียได้เร็ว-คล่องขึ้น-ลูกหนี้ร่วมมือง่ายขึ้น ประธานสมาคมธนาคารไทยยันไม่ใช่การผ่อนมาตรฐาน “TFRS9”

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Anlytics) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกหนังสือเวียนเรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มาตรการจะมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2563-31 ธ.ค. 2564 นั้น มาตรการดังกล่าวมีส่วนช่วยผ่อนภาระการตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) อย่างมาก เนื่องจากมีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดชั้นลูกหนี้กรณีลูกหนี้ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ (non-NPL) ให้สามารถจัดเป็นชั้นที่ไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (stage 1) ได้ทันที

“ตามปกติมาตรฐาน TFRS9 หากมีความสงสัยว่าหนี้จะสูญ แบงก์ก็จะต้องจัดชั้นลูกหนี้เป็น stage 2 ซึ่งต้องตั้งสำรองเพิ่มตามโมเดลของแต่ละแบงก์ แต่พอ ธปท.ออกเกณฑ์นี้มา ว่าเอสเอ็มอีที่ปรับโครงสร้างหนี้อยู่ แล้วยังไม่เป็นเอ็นพีแอล ทั้งที่อยู่ในกลุ่ม SM (ผิดนัดชำระ 1-3 เดือน) และกลุ่ม P (performing) ให้จัดชั้นเป็น stage 1 ได้ ไม่ต้องเป็น stage 2 ก็จะทำให้ลดภาระการตั้งสำรองไปได้จำนวนมาก เพราะการตั้งสำรองตาม stage 1 จะตั้งล่วงหน้าแค่ 12 เดือน แต่ถ้าตั้งตาม stage 2 ต้องตั้งทั้งอายุสัญญา” นายนริศกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันยอดปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา (TDR) ต่อยอดสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดอยู่ที่ 3.98% หรือมูลค่าราว 5.27 แสนล้านบาท ซึ่งทางทีเอ็มบีประเมินว่ามีเอสเอ็มอีทั้งที่เป็นเอ็นพีแอลแล้วและอยู่ในกลุ่ม SM รวมกันอย่างน้อย 2.5 แสนล้านบาทที่จะอยู่ในข่ายได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดคงต้องเข้าไปดูเพราะแต่ละแบงก์ก็จะมีสัดส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ที่แตกต่างกันไป บางแบงก์ก็อาจจะปรับโครงสร้างหนี้ค่อนข้างมาก บางแบงก์ก็อาจจะปรับโครงสร้างหนี้ไม่มาก

“ถ้ามาตรการมีผลบังคับใช้ จากตอนนี้ยังเป็นการซักซ้อมอยู่ จะไม่ใช่แค่ลดภาระตั้งสำรองในส่วนที่มีการปรับโครงสร้างหนี้อยู่แล้ว แต่ก็จะสร้างแรงจูงใจให้แบงก์มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กลุ่ม SM มากขึ้นด้วย ก็ถือได้ว่าเป็นการปลดล็อกการปล่อยกู้ให้ธุรกิจเอสเอ็มอี นอกจากนี้ ธปท.ยังมีประกาศว่าถ้าเป็นกลุ่มที่เป็นเอ็นพีแอลไปแล้ว แล้วมีการชำระคืนต่อเนื่อง 3 เดือนให้มีสถานะกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติได้ด้วย โดยไม่ต้องรอชำระติดต่อกันถึง 12 เดือน ก็น่าจะเป็นการสนับสนุนปล่อยกู้เอสเอ็มอีได้ตรงจุด” นายนริศกล่าว

นายนริศกล่าวด้วยว่า นอกจากแบงก์น่าจะมีการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น ยังน่าจะทำให้แบงก์ชะลอการขายหนี้เสียให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ลง เนื่องจากความสามารถในการรับซื้อหนี้ของเอเอ็มซีเองก็มีค่อนข้างจำกัด

อย่างไรก็ตาม แบงก์ที่มีสัดส่วนการให้สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีมาก ก็น่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการอย่างเต็มที่ (ดูกราฟิกสัดส่วนประเภทธุรกิจจากเงินให้กู้) ซึ่งผลประกอบการก็น่าจะดูดีขึ้น จนคาดว่าน่าจะครอบคลุมผลกระทบจากเรื่องค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่ ธปท.ออกมาให้แบงก์ปฏิบัติเมื่อเร็ว ๆ นี้

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า แนวทางปรับโครงสร้างหนี้ที่ ธปท.ออกมานั้นไม่ใช่เป็นการผ่อนผันการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญตาม TFRS9 แต่อย่างใด แต่เป็นเกณฑ์ที่ให้อยู่ในกรอบและกติกาที่สามารถเอื้ออำนวยการแก้ไขหนี้ได้ดีขึ้น เพราะในที่สุดแบงก์ก็ต้องตั้งสำรองตามเกณฑ์เหมือนเดิม ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่ใช้การค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็เป็นการปรับเพื่อช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องถูกฟ้องก่อน ซึ่งจะทำให้ขอสินเชื่อใหม่ได้ยาก

“มาตรการที่ออกมาก็ช่วยให้มีช่องทางการแก้ปัญหาเร็วขึ้นดีขึ้น โดยคนที่ถูกฟ้องร้องที่มีอยู่กว่า 1 หมื่นราย วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท จะได้มาคุยและเดินต่อไปได้” นายปรีดีกล่าว

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่ออกมาจะช่วยลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง และอย่างน้อยทำให้ผู้ประกอบการรอดมากขึ้น ขณะที่ธนาคารก็ทำงานได้เร็วขึ้น

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า มาตรการการปรับโครงสร้างหนี้เอสเอ็มอีที่ออกมาจะช่วยให้ลูกค้าให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างหนี้ได้ดีขึ้น เพราะยังมีมาตรการลดหย่อนภาษี การตีทรัพย์ชำระหนี้ หรือการลดมูลหนี้ (hair cut) ที่ทำได้ง่ายขึ้นเหมือนที่เคยทำเมื่อปี 2540 ที่ทำให้ลูกหนี้ไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องการชำระภาษี รวมถึงให้เวลาลูกหนี้มีเวลาในการซื้อทรัพย์คืน ขณะที่แบงก์ก็มีโอกาสปรับปรุงแก้ไขหนี้ได้มากขึ้นโดยไม่ต้องฟ้องร้องก่อน ส่วนการตั้งสำรองก็ยังคงเป็นไปตามเกณฑ์ปกติ