แบงก์ระดมมาตรการเร่งด่วน อุ้มลูกหนี้ฝ่าวิกฤต ‘ไวรัสโคโรน่า’

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) หรือไวรัสอู่ฮั่น และการระงับการเดินทางของกรุ๊ปทัวร์จีนจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวไทย ที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวจีนมากกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี หรือกว่า 1 ใน 4 ของรายได้ในภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

และล่าสุด (31 ม.ค.) องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของไวรัส “โคโรน่าสายพันธุ์ใหม่” เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก” เนื่องจากการแพร่ระบาดและการเสียชีวิตที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

รายได้ท่องเที่ยวหาย 1 แสนล้าน

TMB Analytics คาดการณ์ว่า ภาพรวมดีกรีผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าต่อภาคการท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 70% โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจีนลดลง 2.4 ล้านคนในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนที่จะเริ่มกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยรวมทั้งปี 2563 จะอยู่ที่ 38.7 ล้านคน ลดลงจากคาดการณ์เดิม 40.8 ล้านคน และรายได้ภาคท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวข้องลดลงกว่า 1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 0.7% ของจีดีพี

ผลกระทบต่อรายได้ภาคการท่องเที่ยวแบ่งเป็นธุรกิจโรงแรมรายได้หายไป 2.84 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับธุรกิจค้าปลีกรายได้หายไป 2.84 หมื่นล้านบาท และธุรกิจร้านอาหารลดลง 1.89 หมื่นล้านบาท และที่เหลือ (ค่าเดินทาง ค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว และอื่น ๆ) หายไป 2.92 หมื่นล้านบาท

ศูนย์วิเคราะห์ฯประเมินว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงของไทยในระดับสูง คือ “ธุรกิจโรงแรม” โดยมีผู้ประกอบการโรงแรมที่อยู่ในข่ายได้รับผลกระทบถึง 7,500 ราย ขณะที่ธุรกิจภัตตาคารร้านอาหาร และอื่น ๆ คาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเชนธุรกิจของผู้ประกอบการชาวจีน

รร. 7,500 แห่งอ่วม สูญ 2.8 หมื่นล้าน

สำหรับธุรกิจโรงแรมคาดว่าจะได้รับผลกระทบ 7,500 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง 459 ราย และขนาดเล็ก 6,990 ราย คาดว่า “โรงแรมขนาดกลางได้รับผลกระทบหนักสุด”  จากรายได้ของธุรกิจโรงแรมที่ลดลง 2.84 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเป็นโรงแรมขนาดกลางถึง 49% โรงแรมขนาดเล็ก 31% และโรงแรมขนาดใหญ่ 20% พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบระดับสูงจะอยู่ในพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวจีนชื่นชอบ 7 จังหวัดหลัก ได้แก่ กรุงเทพฯ (32%) ภูเก็ต (29%) ชลบุรี (14%) กระบี่ (7%) สุราษฎร์ธานี (7%) เชียงใหม่ (5%) และพังงา (2%) ซึ่งมีผู้ประกอบการโรงแรมรวม 4,763 ราย หรือประมาณ 65% ของผู้ประกอบการโรงแรมไทยทั้งประเทศ

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อธุรกิจโรงแรมขนาดกลางถือว่า “เปราะบาง” และมีแนวโน้มแย่ลงจากผลกระทบไวรัส สะท้อนจาก ณ สิ้นปี 2562 ระดับหนี้เสีย (NPL) อยู่ที่ 5.1% และหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนที่ต้องเฝ้าระวังสูงถึง 13% ส่วนธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กมี NPL อยู่ที่ 4.1%

ธปท.สั่งแบงก์อุ้มลูกหนี้ท่องเที่ยว

ด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกหนังสือเวียนถึงสถาบันการเงินทั้งแบงก์และน็อนแบงก์ ขอความร่วมมือให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ประกอบด้วย

1) พิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น ให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ลดหรือยกเว้นดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียม ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้

2) ปรับลดอัตราการผ่อน “ชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำ” ให้ต่ำกว่า 10% ของยอดคงค้างจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 และ

3) ผ่อนผันหลักเกณฑ์การกำหนดวงเงินชั่วคราวกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของสินเชื่อส่วนบุคคลจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563

แห่ให้พักหนี้เงินต้น 6-12 เดือน

ฟากธนาคารก็ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้า เริ่มจากธนาคารไทยพาณิชย์ที่ประกาศมาตรการพักชำระเงินต้นสูงสุด 6 เดือน ขณะที่ ธนาคารกสิกรไทยมีมาตรการพักชำระเงินต้น สูงสุด 12 เดือน พร้อมสนับสนุนวงเงินเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูกิจการ ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปี กับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ด้านธนาคารกรุงไทย ออกมาตรการช่วยเหลือทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งกลุ่มส่งออกสินค้าไปจีน  โดยพักชำระหนี้เงินต้นตามระดับผลกระทบสูงสุด 2 เดือนเช่นกัน พร้อมขยายระยะเวลาชำระหนี้และการค้ำประกัน รวมทั้งสนับสนุนค่าธรรมเนียม บสย.ค้ำประกัน

เช่นเดียวกับธนาคารกรุงเทพก็ประกาศให้มาตรการช่วยเหลือการพักชำระเงินต้นตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี รวมถึงเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าเช่นกัน

ธอส.จัดเงินกู้ดอกต่ำให้ ไกด์รายย่อย

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส.ได้เตรียมกรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบ ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินงวดผ่อนชำระไม่เกิน 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับ 0.01% ต่อปี ซึ่งผู้ขอรับมาตรการช่วยเหลือต้องมีคุณสมบัติ คือ เป็นลูกค้าของ ธอส.ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า

อาทิ ไกด์นำเที่ยว พนักงานโรงแรม ผู้ประกอบการรายย่อยที่ขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว หรืออาชีพอื่น ๆ ธนาคารจะยกเว้นค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องด้วย สามารถยื่นคำร้องเพื่อเข้าร่วมมาตรการได้ที่สาขาของธนาคารระหว่างวันที่ 30 มกราคม-31 มีนาคม 2563 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด

แบงก์เร่งส่งทีมสำรวจปัญหาลูกค้า

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากไวรัสโคโรน่า แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.โรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก 2.ซัพพลายเออร์ค้าขายกับโรงแรม และ 3.กลุ่มเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ซึ่งจากการประเมินพบว่ามีลูกค้าประมาณ 5,600 ราย วงเงินสินเชื่อ 3.5 หมื่นล้านบาท

“ธนาคารได้ส่งทีมงานออกไปสำรวจลูกค้า และมีบางส่วนที่ลูกค้าติดต่อขอความช่วยเหลือเข้ามา ซึ่งการช่วยเหลือจะพิจารณาตามปัญหาของลูกค้า”

เช่นเดียวกับ นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า มาตรการหลัก ๆ ที่ธนาคารช่วยเหลือจะเป็นการพักชำระเงินต้นตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี รวมถึงเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้า โดยจะพิจารณาตามปัญหาของลูกค้าเป็นหลักแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน

โดยขณะนี้ธนาคารได้ส่งทีมงานสำรวจผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น โรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงกลุ่มร้านอาหารและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับนักท่องเที่ยวจีน เพราะเมื่อไม่มีกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวจีนก็ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการเหล่านี้ได้รับผลกระทบ ซึ่งก็เริ่มมีเข้ามาคุยกับธนาคารแล้ว และธนาคารก็เริ่มให้ความช่วยเหลือบางส่วนแล้ว