แบงก์ชาติจ่อหั่นจีดีพีโตต่ำกว่า 2.8% ในเดือน มี.ค.นี้ ชี้ 3 ปัจจัยลบทุบเศรษฐกิจสาหัสเกินคาด

แบงก์ชาติเตรียมปรับประมาณการจีดีพีใหม่ในการประชุม กนง. รอบเดือน มี.ค. เผย กนง. ลดดอกเบี้ยอีก 0.25% หวังเป็น “ตัวเสริม” ช่วยให้แบงก์เร่ง “อัดสภาพคล่อง-ปรับโครงสร้างหนี้” อุ้มธุรกิจที่กำลังมีปัญหา

นายทิตนันท์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า หลัง กนง. มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1% ต่อปีไปแล้ว โดยมีผลทันทีวันนี้ (5 ก.พ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะพิจารณาปรับประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2563 ใหม่ ในการประชุม กนง. รอบเดือน มี.ค. โดยคาดว่าจีดีพีจะขยายตัวต่ำกว่า 2.8% ต่อปีจากที่คาดการณ์ไว้เดิม เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบมากขึ้น ทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า งบประมาณล่าช้ามากขึ้น และ ภัยแล้งที่จะยืดเยื้อมากขึ้น ซึ่งบางปัจจัยไม่ได้คาดการณ์ไว้ก่อน

ทั้งนี้ น่าจะเห็นผลกระทบค่อนข้างมากในไตรมาสแรกปี 2563 นี้ ส่วนเศรษฐกิจจะชะลอตัวต่อเนื่องหรือไม่นั้น ยังเร็วไปที่จะประเมิน เพราะในบางกรณีผลกระทบยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ดังนั้น จึงต้องรอการประเมินรอบเดือน มี.ค.

“สถานการณ์ตอนนี้ ยังเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือช่วงนี้ ผลกระทบที่มาจากปัจจัยที่กล่าวมานี้ ก่อผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจหลาย ๆส่วน ทั้งการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และบางส่วนของภาคเกษตร แล้วก็ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อธุรกิจเอสเอ็มอีและการจ้างงานของครัวเรือน นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมนโยบายการเงินจึงต้องผ่อนคลายมากขึ้น” นายทิตนันท์กล่าว

นายทิตนันท์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ กนง. ให้ความสำคัญคือ การแก้ปัญหาด้านสภาพคล่อง และการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ภาคธุรกิจ ที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งต้องประสานงานในรายละเอียดเพื่อดำเนินการต่อไป

“คีย์สำคัญของเรื่องนี้ คือการเสริมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจและครัวเรือน รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ โดยดอกเบี้ยอาจจะเป็นตัวเสริม แต่ที่สำคัญคือ ต้องเร่งขับเคลื่อนแพ็กเกจใหญ่ที่ออกมาแล้วให้เกิดขึ้นได้จริงโดยเร็ว ซึ่งเรื่องนี้นโยบายให้ความสำคัญสูง” นายทิตนันท์กล่าว

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดอีกหรือไม่นั้น นายทิตนันท์ กล่าวว่า คงขึ้นกับว่าแนวโน้มข้างหน้า สภาพคล่องธุรกิจ หรือการปรับโครงสร้างหนี้ออกมาเป็นอย่างไรด้วย