‘กสิกร’ ลุ้น กนง. หั่นดอกเบี้ยต่ำ 1% เซ่นพิษนักท่องเที่ยว ก.พ. ลดฮวบ 30%

Photographer: Dario Pignatelli/Bloomberg via Getty Images

“กสิกรไทย” หั่นเป้าจีดีพีปี’63 เหลือโต 2% เก็งธปท.ลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง หลังท่องเที่ยวเดือน ก.พ.ทรุดหนัก-นักท่องเที่ยวหาย 30% YoY ชี้ช่องลงทุนหุ้น “ไฟแนนซ์-บริษัทบริหารหนี้” อานิสงส์ดอกเบี้ยขาลงต้นทุนธุรกิจถูก

คาดต้น มี.ค. สถานการณ์ไวรัสฟื้น

นายภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า ภายในต้นเดือน มี.ค.63 ประเมินว่าผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จะมีพัฒนาที่ดีขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้ที่อยู่ในช่วงสังเกตอาการในประเทศจีนช่วงวันที่ 7 ก.พ.63 ได้ปรับขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1.9 แสนคนไปแล้ว ขณะที่วันที่ 17 ก.พ.63 ที่ผ่านมาปรับลดลงเหลือเพียง 1.4 แสนราย หรือเฉลี่ยลดลงวันละ 1 หมื่นราย ดังนั้น จากนี้ไปหากไม่มีการติดเชื้อรอบ 2 เกิดขึ้นคาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศจีนจะดีขึ้นภายใน 20 วันหลังจากนี้

“คนส่วนใหญ่ที่วิ่งเข้ามาหาหมอในเมืองจีน สัดส่วน 93% ตรวจสอบแล้วไม่ติดเชื้อ โดยมีเพียง 7% เท่านั้นที่ตรวจสอบแล้วพบว่าติดเชื้อไวรัส ซึ่งในจำนวนนี้มีอัตราการตายประมาณ 2-3% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและมีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันและโรคแทรกซ้อน” นายภาสกร กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมความเสี่ยงในประเทศจีนเริ่มมีทิศทางคลี่คลายลง แต่ปัญหาผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนยังคงมีอยู่ โดยประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่าประเทศในเขตหนาว ดังนั้น หากไวรัสโควิด-19 มีสถานการณ์ดีขึ้นตามที่คาดการณ์ และ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 สามารถเบิกจ่ายได้จะส่งผลให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในเดือน เม.ย.63

งบผ่านฉลุยหนุนรัฐออกบอนด์ใหม่ 1.2 ล้านล้านบาท

นายภาสกร กล่าวอีกว่า ฝ่ายวิจัยประเมินว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) อายุ 10 ปี ที่ปรับลดลงต่ำกว่า 1.2% จะสามารถปรับขึ้นได้หลังจากนี้ เนื่องจากในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีการออกพันธบัตรชดเชยการขาดดุลค่อนข้างต่ำ และส่วนใหญ่เป็นการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อรีไฟแนนซ์เท่านั้น ดังนั้น เชื่อว่าในปี 2563 จะมีการเร่งออกพันธบัตรใหม่ออกมา

“เราคาดว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรใหม่ออกมามูลค่ารวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการออกพันธบัตรใหม่ 6.6 แสนล้านบาทเพื่อชดเชยขาดดุลปีก่อนที่อยู่ที่ระดับ 4.69 แสนล้านบาท โดยไตรมาส 1 ของปีงบประมาณคาดว่าจะมีพัธบัตรออกมาจำนวน 1.45 แสนล้านบาท ไตรมาส 2 จำนวน 1.42 แสนล้านบาท ไตรมาส 3 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท และจะพีกสุดในไตรมาส 4 จำนวน 1.8 แสนล้านบาท ส่วนอีก 5.6 แสนล้านบาทจะเป็นส่วนที่ออกมาเพื่อรีไฟแนนซ์” นายภาสกร กล่าว

โดยซัพพลายของพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ปรับขึ้นในระยะถัดไป โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่จะได้อานิสงส์จากบริษัทเอกชนหันมากู้เงินเพิ่มขึ้นแทนการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ และกลุ่มประกันชีวิตที่มีการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างสูง

คงเป้าดัชนีสิ้นปี 1,700 จุด

นายภาสกร กล่าวว่า กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยในปี 2563 ยังคงเป้าหมายดัชนีไว้ที่ระดับ 1,700 จุด โดยกรอบการเคลื่อนไหวระยะสั้นในช่วง 1 เดือนให้ไว้ที่ 1,520-1,570 จุด และหากสถานการณ์เศรษฐกิจและไวรัสเริ่มดีขึ้นเชื่อว่าดัชนีจะสามารถเคลื่อนไหวในกรอบถัดไปที่ 1,570-1,614 จุดได้

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นของดัชนีหุ้นไทยที่ประเมินเอาไว้อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้่งถัดไปในวันที่ 25 มี.ค.63 อีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 0.75% โดยฝ่ายวิจัยมองว่ามีโอกาสสูงที่ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ย หลังตัวเลขนักท่องเที่ยวในเดือน ก.พ.ลดลงกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งผลกระทบจะลากยาวไปจนถึงเดือน มี.ค. และคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในเดือน เม.ย.

ปรับเป้าจีดีพีเหลือโต 2%

“ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2563 เราปรับลดจีดีพีทั้งปีลงมาอยู่ที่ 2% จากเดิมคาดว่าจะโต 2.8% โดยจีดีพีไตรมาส 1 น่าจะติดลบ 1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยได้รับแรงกดดันจากภาคการส่งออกที่คาดว่าปีนี้จะติดลบ 1.7% โดยส่งออกบริการติดลบ 5% และส่งออกสินค้าติดลบ 1%” นายภาสกร กล่าว

ขณะที่หุ้นที่จะเสียประโยชน์หาก ธปท.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า โดยเส้นอัตราผลตอบแทนที่ปรับขึ้นทุกๆ 1% จะมีผลต่อราคาหุ้นประมาณ 3-6% ส่วนกลุ่มกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน/กองทุนอสังหาริมทรัพย์/ทรัสเพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ทุกๆ 1% จะมีผลต่อราคาหุ้นประมาณ 3-12%

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทปี 2563 คาดว่า ณ สิ้นปีจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อการท่องเที่ยวและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย โดยเชื่อว่าหลังการแพร่ระบาดจบลงค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะกลับมาแข็งค่าต่อไป

เปิดกรุลงทุนหุ้นรับดอกเบี้ยต่ำ

นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ในภาวะดอกเบี้ยต่ำจะส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มที่มีต้นทุนทางการเงินเป็นดอกเบี้ย เช่น กลุ่มไฟแนนซ์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ รวมถึงกลุ่มโรงไฟฟ้าและกลุ่มกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่มีอัตราเงินปันผล (Dividend Yield) สูงกว่าการฝากเงินในธนาคาร ดังนั้น ในภาวะดอกเบี้ยต่ำนักลงทุนจึงโยกเงินเข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ครั้งที่ผ่านมาจะส่งผลให้ธนาคารปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทต่างๆ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเบิกเงินเกินบัญชี (MOR) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ซึ่งจะส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากผู้ผ่อนสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีภาระการผ่อนน้อยลง

และสุดท้ายแนะนำกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก โดยเฉพาะในธนาคารขนาดเล็กที่มีการปล่อยกู้แบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) และหุ้นกลุ่มสินเชื่อ (Non-Bank) ที่มีอัตราเงินปันผลอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

โดยหุ้นเด่น (Top Pick) ได้แก่ กลุ่มบริษัทบริหารสินทรัพย์แนะนำซื้อ บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากไวรัสโคโรน่า (Virus Play) แนะนำ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) แม้ระยะสั้น AOT จะได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า แต่ในปี 2564 จะเริ่มรับรู้รายได้จากคิงเพาเวอร์ และในปี 2567 หลังสนามบินสุวรรณภูมิก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้อีกราว 30-40 ล้านราย

ขณะที่ CPN มีปัจจัยเชิงบวกจากการเตรียมขายสินทรัพย์เข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท (CPNREIT) และการทำอสังหาริมทรัพย์ประเภทมิกซ์ยูสเพื่อรองรับการไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่จะส่งผลให้ CPN สามารถสร้างรายได้ได้มากขึ้น

ถัดมาแนะนำ บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) และ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ได้อานิสงส์แนวโน้มค่าเงินบาทอ่อนค่า รวมถึงกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากต้นทุนก๊าซที่ปรับลดลง ได้แก่ บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) และ บมจ.ไดนาสตี้เซรามิค (DCC) กลุ่มพลังงานแนะนำลงทุน บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) อานิสงส์กลุ่มโอเปกยังคงประคองการลดอัตราการผลิตลงเพื่อประคองราคาน้ำมันดิบ

รวมถึงกลุ่มรับเหมาก่อสร้างแนะนำ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) อานิสงส์การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 และสุดท้ายกลุ่มที่มีสตอรี่การเติบโตเฉพาะตัว บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) ซึ่งในปี 2563 คาดการณ์กำไรสุทธิเติบโต 20% ผ่านการขยายตลาดไปยังประเทศเวียดนามและอินโดนีเซีย