TMB จับมือ FWD ส่งยูนิตลิงก์เน้นคุ้มครองสูง เจาะเจ้าของกิจการ ตั้งเป้าสิ้นปีเบี้ย 1 พันล้าน

“ทีเอ็มบี” จับมือ “เอฟดับบลิวดี” ส่งแบบประกันยูนิตลิงก์ “เฟล็กซี่ ไลฟ์ โพรเทค 15/5” เน้นความคุ้มครองสูงเลือกได้สูงสุด 50 เท่า เน้นลงกองทุนเสี่ยงต่ำ มีโอกาสได้เงินคืน พร้อมจ่ายเบี้ยเพิ่มคุ้มครองยาวถึง 99 ปี และพ่วงสัญญาเพิ่มเติมได้ คาดเบี้ยรับสิ้นปี 1 พันล้านบาท เน้นเจาะลูกค้าเจ้าของกิจการผ่านลูกค้าแบงก์ เร่งดอดเข้าปรึกษา ก.ล.ต.หารือโปรดักต์ลงทุน หนุนตอบโจทย์ลูกค้า Mass จ่ายเบี้ยเหมาะสมเพียง 2 หมื่นบาทต่อปี จากเดิมจ่ายขั้นต่ำ 5 หมื่นบาท

นายชวมนต์ วินิจตรงจิตร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจประกัน ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ทีเอ็มบีมีการเปลี่ยนแปลงมุมมองลูกค้าจากสมัยก่อนที่พูดถึง make the difference มาเป็น make real change จึงเป็นธีม financial well-being พยายามทำให้สภาพจิตใจของลูกค้ามีชีวิตที่ดี มีการใช้จ่ายไม่เกินตัว โดยเราสะท้อนเกี่ยวกับเรื่องการออม และส่งเสริมให้ลูกค้าสามารถที่จะตอบโจทย์ในเชิงเป้าหมายต่างๆ ในชีวิต ทั้งเรื่องการศึกษาลูก และเป้าต่างๆ ที่ตั้งไว้ให้บรรลุได้ นอกจากนี้ยังโฟกัสในเรื่องการกู้ยืม เน้นลูกค้าที่มีพฤติกรรมที่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ไม่มุ่งเน้นการกู้ที่เกินตัว โดยโฟกัสการกู้เพื่อการศึกษา

และส่วนสุดท้ายทำอย่างไรให้ลูกค้ามีความคุ้มครองที่เพียงพอคือ ด้านความคุ้มครองชีวิต(โปรเทคชั่น) เพื่อให้ลูกค้าเดินหน้ามีการวางแผนแม้จะสะดุด แต่ลูกค้ารู้ว่าครอบครัวหรือธุรกิจจะไม่ถูกผลกระทบ

“สิ่งที่เราพยายามจะทำมีจุดตั้งต้น โดยคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีความคุ้มครอง จากผลวิจัยของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าใน 100 คน มีคนทำประกันแค่ 37 ฉบับ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีความคุ้มครองที่เพียงพอ โดยกว่า 95% ของลูกค้าทีเอ็มบียังมีความคุ้มครองไม่เพียงพอ ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่นก็ถือว่ายังค่อนข้างห่างกันพอสมควร” นายชวมนต์กล่าว

จากการศึกษาสิ่งที่เราพบประกันยังเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ตอบโจทย์ เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้ประกันเป็นเรื่องที่ง่าย และลงเงินใช้เงินไม่สูง จึงวนกลับมาที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) แต่รูปแบบจะแตกต่างไปจากท้องตลาด โดยไม่ใช่การสะสมความมั่งคั่ง แต่มีไว้ให้ลูกค้าสามารถใช้เงินน้อย แต่ได้ความคุ้มครองที่สูง

ฉะนั้นทีเอ็มบีและเอฟดับบลิวดีจึงได้พัฒนาโปรดักต์ “เฟล็กซี่ ไลฟ์ โพรเทค 15/5 (ยูนิติลิงก์)” มีความเสี่ยงในการลงทุนต่ำเมื่อเทียบกับการซื้อประกันแบบชั่วระยะเวลา(Term Life) ได้รับความคุ้มครองที่สูง ใช้เงินน้อยกว่า และสุดท้ายมีโอกาสได้เงินคืน

Advertisment

“ส่วนใหญ่ยูนิตลิงก์จะจ่ายแบบ 99/99 คนอาจจะไม่เข้าใจ และไม่มีความรู้เกี่ยวกับประกัน จึงได้คุยกันว่าทำให้รูปแบบเข้าใจง่าย ไม่มีข้อผูกพันระยะยาว โดยนำเสนอแบบ 15/5”

อย่างไรก็ดีขณะนี้กำลังจะเข้าไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ว่าโปรดักต์ลักษณะนี้จะเปลี่ยนตัวขับเคลื่อนของแบบประกันยูนิตลิงก์ ซึ่งเพื่อไปเจาะกลุ่มลูกค้าทั่วไป (Mass) ควรจ่ายเบี้ยเหมาะสมเพียง 2 หมื่นบาทต่อปี จากเดิมจ่ายขั้นต่ำ 5 หมื่นบาท

Advertisment

สิ้นปีที่แล้วพอร์ตโพรเทคชั่นของแบงก์คิดเป็น 40% คาดวาสิ้นปีนี้จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 60%

นายปรีชา รุธิพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บมจ.เอฟดับบลิวดี (FWD) กล่าวว่า จุดประสงค์ในการพัฒนาโปรดักต์ครั้งนี้ต้องการตอบโจทย์เรื่องความคุ้มครอง ซึ่งยูนิตลิงก์เป็นโปรดักต์ที่ดีแต่อาจยังมีความเชื่อที่ผิด จริงๆเป็นสินค้าประกันชีวิต ไม่ใช่เพื่อความมั่งคั่ง ฉะนั้เราได้เลือกความคุ้มครองที่มีความยืดหยุ่นแต่มีความเหมาะสม ซึ่งต้องใช้การอธิบายขั้นสูงเพื่อที่จะทำ โดยเมื่อบริษัทได้โจทย์เราก็มามองว่า 15/5 คือการจ่าย 5 ปี ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมในการให้คำมั่นสัญญา ไม่ยาวจนเกินไป และโอกาสในการจ่ายเบี้ยที่เพียงพอ ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเจ้าของกิจการที่มีกระแสเงินสด (Cash Flow)

“ถ้าคนๆ หนึ่งอยากจะมีความคุ้มครอง สมมติจ่ายเบี้ยปีละแสนเพียง 5 ปี ไม่มีข้อผูกพันระยะยาว สามารถเลือกชีวิตได้สูงสุด 50 เท่าของเบี้ยประกันหลัก หรือได้รับความคุ้มครองทุนประกันสูงทันที 5 ล้านบาท และลูกค้าสามารถเลือกจ่ายเบี้ยเพิ่มพิเศษ (Top-Up premium) ต่อได้เพื่อรับความคุ้มครองให้นานขึ้น โดยเมื่อครบกำหนดสัญญาปีที่ 15 ก็สามารถเลือกต่ออายุความคุ้มครองได้ตามต้องการสูงสุดถึงอายุ 99 ปี เมื่อจ่ายเบี้ยหลักครบ 5 ปี และไม่มีการลด ถอน และหยุดพักชำระเบี้ย

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขหากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value :NAV) ติดลบ ยังการันตีเงินต้นคืนในกรณีเสียชีวิตลดลงมาเหลือ 5 เท่า แต่หากไม่เสียชีวิตลูกค้าสามารถเติมเงินเข้าไปได้ ซึ่งทั้งหมดลูกค้าจะเป็นคนตัดสินใจ”

เราเน้นจัดพอร์ตลงกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยจุดประสงค์หลักเน้นความคุ้มครองสูงตลอด 15 ปี และแนะนำลงทุนความเสี่ยงต่ำ แต่สมมติลูกค้าอยากลงความเสี่ยงสูงก็เป็นทางเลือกของลูกค้า โดยเราจะมีกองที่มีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน และจัดพอร์ตให้ได้ ซึ่งเริ่มเปิดตัวไป (Solf Launch) เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ตั้งเป้าเบี้ยรับภายในสิ้นปี 1 พันล้านบาท โดยถือเป็นเจ้าแรกที่มีผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ ซึ่งจะสามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติมได้ด้วย ปัจจุบันมีพนักงานสาขาที่พร้อมขายแล้วประมาณ 1,000 กว่าคน