ผวาเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” ประชุมกนง. 25 มี.ค.มีสิทธิ์ “ลดดอกเบี้ย” อีกรอบ

Photo by Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images

พิษโควิด-19 ทุบเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” จี้รัฐบาลเร่งอัดมาตรการนโยบายการเงินการคลัง-ภาษีเยียวยาเศรษฐกิจ จับตาประชุมกนง.25 มี.ค.นี้มีสิทธิ์ “ลดดอกเบี้ย”

ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจรายงานว่า ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์(บล.) เอเชัยพลัส เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กระจายไปหลายประเทศทั่วโลกสร้างความกังวลว่าจะนําเศรษฐกิจโลกไปสู่ภาวะถดถอย (Recession) หรือภาวะที่ขนาด GDP ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มเห็นการหดตัวของ GDP ในงวดไตรมาส 1/63 เมื่อเทียบกับ ไตมาส4/62 เป็นครั้งแรก ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวทำให้น่าจะเห็นความพยายามของภาครัฐในการที่จะระดมออกมาตรการต่างๆ เข้ามาช่วยดึงให้เศรษฐกิจงวดไตรมาส 2/63 เพื่อให้ฟื้นตัว

ในส่วนของประเทศไทยเชื่อว่าจะเห็นการเดินหน้า ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง โดยนโยบายการเงินน่าจะเห็นการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ที่จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบวันที่ 25 มี.ค. นี้ ส่วนนโยบายการคลังเบื้องต้นจะเห็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อเยียวยา กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในภาคครัวเรือน

นอกจากนี้ยังเริ่มเกิดความคาดหวังว่าอาจมีการพิจารณามาตรการเกี่ยวกับภาษี เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกส่วนหนึ่งด้วยซึ่งการออกมาตรการดังกล่าว น่าจะเป็นผลดีกับบางกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มค้าปลีก ท่องเที่ยง-โรงแรม อาหาร รวมถึง รับเหมาก่อสร้าง

โดยสถานการณ์ระบาดของไวรัส COVID-19 ล่าสุด จํานวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 88,590 ราย หรือเพิ่มขึ้น 2.3% และจํานวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 3,050 ราย หรือเพิ่มราว 2.5% ส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อนอกประเทศจีน โดยเฉพาะเกาหลีใต้, อิตาลี และญี่ปุ่น มีจํานวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 8 9%, 160% และ 20% ตามลําดับ ความกังวล COVID-19 ดังกล่าว เชื่อว่าจะกดดันให้ตลาดหุ้นโลกปรับฐาน ต่อ เช่นตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนี Dow Jones ลดลง 1.4% และ S&P 500 Index ลดลง 0.8%

นอกจากนี้ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจนขึ้นเห็นได้จากจากดัชนี PMI ของ จีนงวดเดือน ก.พ. 2563 ลดลงแตะระดับตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ ( ตํ่ากว่าวิกฤตซับไพร์ม) โดยลดลง 15.3% เหลือ 35.7 จุด จากเดือนม.ค.2563อยู่ที่ 50 จุด ปัจจัยสําคัญมาจากการระบาดของ COVID19 ทําให้โรงงานของจีนหยุดทําการการผลิตจึงลดลงกระทบกับซัพพลายเชนทั่วโลก และทําให้ตลาดคาด GDP Growth ของจีนปี 2563 จะขยายตัวตํ่า 6% (IMF คาด 5.6%)

ขณะที่สหรัฐเริ่มมีกระแสว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นกัน โดยนักเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน Evercore (บริษัทที่ปรึกษาด้านวาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐ) กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในงวดไตรมาส2-3 ปีนี้ เพราะผลกระทบของ COVID19 ทําให้ภาคการค้า, การลงทุน และการบริโภคชะลอตัว