ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐทะยานหลังโควิด-19

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 16-20 มีนาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (16/3) ที่รดับ 31.92/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (13/3) ที่ระดับ 31.85/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และยังอ่อนค่าต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 32.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 11 เดือน ขณะที่ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ก็ปรับตัวแข็งค่าสูงสุดในรอบ 3 ปีเหนือระดับ 100 จุดเช่นกันในวันพฤหัสบดี (19/3) โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้สร้างความประหลาดใจต่อตลาดอีกครั้งหนึ่งด้วยการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1.00% สู่ระดับ 0-0.25% ในการประชุมฉุกเฉินในวันอาทิตย์ (15/3) เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฟดได้ยกเลิกการจัดประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 17-18 มีนาคม ซึ่งเป็นกำหนดการเดิม

นอกจากนี้เฟดยังได้ประกาศซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า เฟดไม่มีแผนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจนถึงระดับติดลบ แต่เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวจนกว่าเฟดมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการทำให้การจ้างงานเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพของราคา ขณะที่ในวันอังคาร (17/3) นั้น มีรายงานเพิ่มเติมว่า เฟดจะทำการซื้อคืนพันธบัตรวงเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ระบบการเงิน

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะมีขึ้นหลังจากที่เฟดประกาศว่าจะอัดฉีดเม็ดเงิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบธนาคารในสัปดาห์ที่แล้ว พร้อมกับเพิ่มประเภทของหลักทรัพย์ในการซื้อพันธบัตรของเฟดเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนั้นแล้วค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลสหรัฐออกมาประกาศในวันพุธ (18/3) ถึงมาตรการเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 ในการจ่ายเช็คให้แก่ชาวอเมริกันในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้าซึ่งประกอบไปด้วยวงเงิน 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ การเลื่อนชำระภาษีของทั้งภาคธุรกิจและบุคคลธรรมดาวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และจัดตั้งวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจตามรายอุตสาหกรรม รวม 8.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะอัดฉีดให้แก่อุตสาหกรรมการบินถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งอนุมัติงบประมาณดังกล่าว มิฉะนั้นแล้วในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอัตราการว่างงานในสหรัฐ อาจพุ่งแตะระดับ 20% ก่อนวิกฤตการณ์นี้จะจบลง

อย่างไรก็ดี ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้มีการอ่อนค่าลงในบางช่วงจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของทางสหรัฐ อาทิ ดัชนี Empire State Manufacturing ถูกเปิดเผยที่ระดับ -12.5 ลดลงมากกว่าคาดการณ์ที่ 5.1, ยอดค้าปลีกลดลง 0.5% ในเดือนกุมภาพันธ์สวนทางกับที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2%, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านลดลง 2 จุด สู่ระดับ 72 ในเดือนมีนาคม โดยดัชนีความเชื่อมั่นร่วงลงทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเพิ่มขึ้น 2 จุด สู่ระดับ 64 นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ต่างปรับตัวลงในเดือนมีนาคม

ด้านปัจจัยภายในประเทศไทยนั้น ภายหลังจากที่เฟดได้สร้างความประหลาดใจในการประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมไปในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังมีการประชุมตามกำหนดการเดิมในวันที่ 25 มีนาคม 2563 และยังไม่สามารถให้ความเห็นใด ๆ ได้ เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงขอ Silent Period

ในส่วนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยที่ส่อแววทวีความรุนแรงมากขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อในสัปดาห์นี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยในวันพุธ (18/3) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลาง จำนวน 17,310 ล้านบาท สำหรับใช้ในการแก้ปัญหาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยในการแก้ปัญหาโควิด-19 แบ่งเป็น 2 ส่วนย่อย คือ จัดสรรให้กับโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบของส่วนงานราชการต่าง ๆ จำนวน 9,002 ล้านบาท เช่น กระทรวงสาธารณสุข 5,488 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 1,551 ล้านบาท กรมควบคุมโรค 520 ล้านบาท สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3,260 ล้านบาท กระทรวงพาณิชย์ 108 ล้านบาท เพื่อชดเชยให้กับ 11 โรงานที่ผลิตหน้ากากอนามัยที่ต้องรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาก รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณไปดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้ง 11 โรงงาน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.80-32.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และเปิดตลาดวันศุกร์ (20/3) ที่ระดับ 32.51/53 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (16/3) ที่ระดับ 1.1104/06 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/3) ที่ระดับ 1.1234/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สหรัฐค่าเงินยูโรอ่อนจากการขายเงินยูโรของนักลงทุนจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ในยูโรโซน ซึ่งน่าจะรับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ภายหลังจากที่ในสัปดาห์นี้ ทางการฝรั่งเศสและสเปนได้ออกมาตรการฉุกเฉินตามประเทศอิตาลีเพื่อคบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยฝรั่งเศสได้สั่งปิดร้านอาหาร คาเฟ่ต์ โรงภาพยนต์ และร้านค้าต่าง ๆ ขณะที่ร้านขายยา ปั๊มน้ำมัน ร้านขายของชำ และระบบขนส่งต่าง ๆ ยังคงเปิดให้บริการ ขณะที่สเปนนั้น ได้สั่งห้ามประชาชนออกจากบ้านเรือน ยกเว้นการออกจากบ้านเพื่อไปซื้อสิ่งของจำเป็นและยา หรือไปทำงาน

นอกจากนั้นแล้ว ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันจากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีดิ่งลงสู่ระดับ -49.5 ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งขณะนั้นเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -26.4 จากระดับ +8.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้รับผลกระทบจากความวิกตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ร่วงลงสู่ระดับ -43.1 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -30.0 จากระดับ -15.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ดี ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนเล็กน้อยในวันพุธ (18/3) ภายหลังจากที่ทางธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้มีการประกาศโครงการซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉินจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ วงเงินรวม 7.5 แสนล้านยูโร เพื่อรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0651-1.1236 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (20/3) ที่ระดับ 1.0788/48 ดอลลาร์สรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยน เปิดตลาดในวันจันทร์ (16/3) ที่ระดับ 107.01/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (13/3) ที่ระดับ 106.29/30 เยน/ดอลลาร์ โดยค่าเงินเยนมีการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างผันผวนและอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่วันจันทร์ (16/3) โดยเป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จากการประชุมนโยบายการเงินซึ่งเป็นการประชุมฉุกเฉินและทดแทนการประชุมตามกำหนดการเดิมในวันที่ 18-19 มีนาคม

โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติให้ใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมในการประชุมฉุกเฉินวันนี้ โดยปรับเพิ่มเป้าหมายในการซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมอีก 2 ล้านล้านเยน และใช้กลไกในการปล่อยเงินกู้ใหม่สำหรับบริษัทเอกชน ขณะเดียวกันธนาคารกลางญี่ปุ่นได้คงเป้าหมายของผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ที่ประดับประมาณ 0% และมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ -0.1% ขณะที่ในวันพุธ (18/3) ได้มีการเปิดเผยถ้อยแถลงของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ต่อรัฐสภา ซึ่งระบุว่าบีโอเจประสบภาวะขาดทุน 2-3 ล้านล้านเยนจากการถือครองกองทุน ETF ในขณะนี้หลังจากราคาหุ้นดิ่งลงอย่างหนักจากความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ เตรียมสั่งการให้รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องและผู้ว่าการธนาคารกลางออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้เศราฐกิจของญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 105.13-111.35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (20/3) ที่ระดับ 109.83/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ