COVID-19 VS Crowd Sourcing

คอลัมน์ Smart SMEs
โดย สยาม ประสิทธิศิริกุล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ช่วงนี้ใคร ๆ ก็พูดถึงแต่ โควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ซึ่งบทความในสื่อต่าง ๆ ส่วนใหญ่ล้วนเขียนเกี่ยวกับโคโรน่าไวรัสในแง่มุมต่าง ๆ และผมเองก็ได้มีโอกาสอ่านบทความหนึ่งที่น่าสนใจและประทับใจเกี่ยวกับรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน ชื่อ “ออเดรย์ ถัง” ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในสภา และเป็นรัฐมนตรีสตรีข้ามเพศคนแรกในประวัติศาสตร์ไต้หวัน อีกทั้งได้ชื่อว่าเป็นอัจฉริยะวัย 38 ปี ผู้มีไอคิว 180 โดยเธอได้ร่วมกับสำนักงานประกันสุขภาพไต้หวัน โดยนำเทคโนโลยี crowdsourcing มาใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลด้านอุปทานของหน้ากากอนามัยที่จำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไต้หวัน และทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในการค้นหาว่าหน้ากากอนามัยมีจำหน่ายอยู่ที่ร้านไหนบ้าง และมีอยู่ในสต๊อกของร้านแต่ละแห่งจำนวนเท่าใดภายใต้ระบบปันส่วนของรัฐบาล ผ่านแผนที่แบบอินเตอร์แอ็กทีฟและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถตอบกลับการสนทนาอัตโนมัติผ่านไลน์แอปพลิเคชั่น

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้ crowdsourcing น่าสนใจที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือ การนำไปใช้ในโลกธุรกิจได้อีกด้วย โดยความหมายของ crowd sourcing นั้นหมายถึง รูปแบบในการกระจาย (sourcing) ความต้องการ หรือปัญหาไปยังกลุ่มคน (crowd) เพื่อค้นหาข้อมูล หรือคำตอบ หรือวิธีการในการแก้ปัญหานั้น ๆ ร่วมกัน ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ พัฒนาสินค้า หรือใช้แก้ไขปัญหาร่วมกัน โดย “กลุ่มคน” ในแนวคิดของ crowdsourcing จะหมายถึงกลุ่มชุมชนบนโลก online นั่นเอง

สรุปสั้น ๆ ได้ว่า crowdsourcing ก็คือ การกระจายปัญหาหรือวัตถุประสงค์บางอย่าง เพื่อให้กลุ่มคน หรือชุมชนออนไลน์ มาร่วมกันแก้ปัญหา หรือทำอะไรตามวัตถุประสงค์นั้น ๆ ดังตัวอย่างของการร่วมกันแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยในไต้หวัน ที่ร้านค้าตามพื้นที่ต่าง ๆ ก็เปรียบเสมือน “กลุ่มคน” ที่มาร่วมกันให้คำตอบ หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนหน้ากากอนามัยที่มีขายอยู่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือตัวอย่างที่ทุกคนคุ้นเคยกันก็คือ สารานุกรมออนไลน์ Wikipedia ที่ทุกคนสามารถเข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์และแก้เนื้อหาให้สมบูรณ์และทันสมัยอยู่เสมอได้

ในปัจจุบันเริ่มมีการนำ crowdsourcing มาประยุกต์ใช้กับโลกธุรกิจในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งที่น่าสนใจและเป็นพลังขับเคลื่อนธุรกิจได้เป็นอย่างมากก็คือ การระดมทุนจากมวลชน (crowdfunding) เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ที่มีไอเดียอยากทำธุรกิจแต่ขาดเงินทุน โดยการนำไอเดียไปนำเสนอผ่าน crowdfunding platform เช่น Kickstarter ซึ่งก็จะมีผู้ที่สนใจในไอเดียนั้นร่วมบริจาค หรือให้เงินทุนไปทำธุรกิจ หรือผลิตสินค้านั้น ๆ ให้เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ ผู้บริจาคหรือให้เงินทุนก็จะได้สิ่งตอบแทนตามแต่ที่ตกลงกัน ซึ่งในประเทศไทยก็ได้มี crowdfunding เกิดขึ้นแล้วใน 2 รูปแบบ คือ lending-based crowdfunding หรือ debt crowdfunding ที่ผู้ลงทุนหรือผู้ให้กู้จะได้รับผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย โดยเป็นการระดมทุนผ่านการกู้ยืมเงินจากผู้สนับสนุน มีการกำหนดระยะเวลาในการชำระเงินคืนและจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้สนับสนุน และรับเงินทุนคืนเมื่อจบโครงการ

สำหรับรูปแบบที่ 2 ก็คือ equity-based crowdfunding ที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นหุ้น โดยเป็นการระดมทุนผ่านที่ผู้สนับสนุนทุนจะได้ถือครองหุ้นของโครงการหรือกิจการที่เลือกตามสัดส่วน และยังมีโอกาสรับผลประโยชน์เพิ่มในอนาคตจากกิจการธุรกิจนั้น ๆ

นอกจากนี้ ในต่างประเทศยังมีการนำ crowdsourcing ไปใช้กับธุรกิจในอีกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเพื่องานออกแบบ หรืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้สื่อสารความต้องการระหว่างบริษัทและชุมชน นักออกแบบ หรือช่วยให้ธุรกิจแบ่งงานออกเป็นงานย่อย ๆ และกระจายให้กับกลุ่มคน ซึ่งจะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น ถูกลง และสามารถกระจายงานไปยังคนในประเทศที่ด้อยโอกาสได้อีกด้วย หรือใช้เปิดรับนวัตกรรมจากภายนอก โดยจะเป็นการชักชวนคนในแวดวงธุรกิจจากหลากหลายสาขาจากทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน นักออกแบบ นักพัฒนาหรือนักการตลาดมาร่วมด้วยช่วยกัน

ซึ่งวิธีการนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการรวบรวมความคิดจากพนักงานภายในองค์กรได้ด้วยเช่นกันครับ