ไวรัสทุบทองผันผวนหนัก นักเก็งกำไรชะลอซื้อขาย

Photographer: Dario Pignatelli/Bloomberg via Getty Images

“โควิด” ทุบทองผันผวนหนัก สมาคมทองฯปรับขึ้นส่วนต่างซื้อขายจาก 100 บาท เป็น 300 บาท ก่อนลดเหลือ 200 บาท ในรอบสัปดาห์ เหตุ “ต่างชาติปิดประเทศ-แอร์ไลน์ลดไฟลต์-โรงหลอมแห่ปิด” กระทบต้นทุน ชี้ระยะสั้นราคาทองมีโอกาสแตะ 25,200 บาท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานวันที่ 25 มีนาคม 2563 สมาคมค้าทองคำได้ออกประกาศเรื่องการกำหนดราคาทองคำในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยอ้างผลประชุมคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้ค้าปลีก-ผู้ค้าส่ง- ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกทองคำ มีมติให้ประกาศราคาทองคำแท่งขายออก และราคาทองคำแท่งรับซื้อคืน มี “ส่วนต่าง” (สเปรด) 300 บาท/บาททองคำ สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบธุรกิจค้าทองเป็นวงกว้าง ทำให้ราคาทองคำผันผวนสูงและการกำหนดค่าพรีเมี่ยม หรือค่าดิสเคานต์ (ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการนำเข้า/ส่งออกทองคำ) ไม่เป็นไปตามสภาวการณ์ปกติ นอกจากนี้การขนส่ง นำเข้า ส่งออกทองคำระหว่างประเทศไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการลดเที่ยวบิน และมาตรการผ่านเข้าออกของแต่ละประเทศ

ต่อมาวันที่ 28 มีนาคมสมาคมค้าทองคำออกประกาศอีกฉบับหนึ่ง ปรับส่วนต่างราคาลดลงมาอยู่ที่ 200 บาท/บาททองคำ โดยระบุว่า ปัญหาราคาทองคำโลกใกล้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากที่ส่วนต่างราคาซื้อขายทองคำแท่งของผู้ค้าในประเทศปรับแคบลงมาอยู่ที่ 5-10 ดอลลาร์/ออนซ์ จากเดิมที่ 40-50 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ปัญหาเรื่องการขนส่งทองคำระหว่างประเทศยังดำรงอยู่

ปรับส่วนต่างเพราะต้นทุนพุ่ง

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำและประธานกรรมการห้างทองจินฮั้วเฮง กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันราคาทองคำปรับขึ้น 4,000 บาท/บาททองคำ คนที่ซื้อลงทุนช่วงต้นปีมีกำไรก็ทยอยขาย แต่ไวรัสโควิด-19 กระทบการนำเข้า-ส่งออกทองคำของไทยที่ต้องส่งออกผ่านตลาดในสิงคโปร์ ฮ่องกง ไปยังตลาดซื้อขายใหญ่ในโซนยุโรป การส่งออกทองคำปัจจุบันทำไม่ได้เหมือนปกติ โรงงานหล่อทองปิด ทำให้ร้านทองเดือดร้อนเรื่องสภาพคล่อง เพราะต้องเอาทองคำไปขายออกต่างประเทศเอาเงินเข้ามาหมุน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยค่าขนส่งทองคำที่ปรับขึ้น ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมขนส่งและค่าประกันภัย ซึ่งปกติทองคำ 1 ออนซ์ จะมีค่าขนส่งอยู่ที่ 30-50 เซนต์ แต่วันที่ 25 มีนาคมปรับขึ้นสูงถึง 25 ดอลลาร์/ออนซ์ ทำให้ค่าใช้จ่ายส่งออกทองคำปรับขึ้นค่อนข้างสูงมาอยู่ที่ 300-400 ดอลลาร์/ออนซ์

“การปรับส่วนต่างซื้อขายทองคำครั้งนี้ ทางร้านขายทองก็ได้รับผลกระทบ เพราะนักลงทุนขายออกมากกว่าซื้อเข้า หากร้านไม่เร่งระบายทองคำออกไปยังต่างประเทศจะส่งผลต่อสภาพคล่องที่นำมาจ่ายให้ลูกค้าที่มาขายทอง ในส่วนนักลงทุนพบว่ามีการชะลอการซื้อขายด้วย”

นายจิตติกล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา สมาคมได้ปรับลดส่วนต่างซื้อขายทองคำมาอยู่ที่ 200 บาท/บาททองคำ เนื่องจากค่าพรีเมี่ยมในต่างประเทศปรับลดลงจาก 25 ดอลลาร์/ออนซ์ มาอยู่ที่ระดับ 10 ดอลลาร์/ออนซ์ สมาคมจึงเห็นควรปรับลดส่วนต่างลงตามเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการซื้อขายของลูกค้าในประเทศ

ขณะที่ปริมาณการซื้อขายทองคำในประเทศเริ่มชะลอลง จากเดิมปริมาณการซื้อขายทองคำทั้งอุตสาหกรรมจะอยู่วันละหลายพันล้านบาท และอาจปรับสูงขึ้นถึงระดับหมื่นล้านบาทในช่วงราคาทองเป็นขาขึ้น นอกจากเป็นผลจากการปรับส่วนต่างราคาซื้อขายที่สูงผิดปกติแล้ว อีกส่วนหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ

“ตอนนี้ร้านทองเปลี่ยนมาเปิดตอน 10 โมงเช้าและปิดตอน 5 โมงเย็น รวมถึงสนองนโยบายรัฐโดยแบ่งให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ กรณีที่มีสาขามากกว่า 1 สาขา ก็อาจสลับกันเปิดลดความเสี่ยงการกระจายโรคอีกด้วย” นายจิตติกล่าว

“แม่ทองสุก” ไม่กระทบวอลุ่ม

นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการ บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด ผู้ประกอบการร้านทองแม่ทองสุก กล่าวถึงแนวโน้มราคาทองคำในภาพรวมยังเป็นขาขึ้น ในระยะสั้นอาจเห็นราคาแกว่งตัวได้ ขณะที่การลงทุน “เริ่มซาลง” จากช่วงก่อนหน้านี้ที่นักลงทุนมีการเทขายทำกำไรออกมา โดยในขาของการขายทองคำยังมีสัดส่วนสูงถึง 95% มากกว่าขาของการซื้อที่มีสัดส่วน 5% เท่านั้น ส่วนการปรับส่วนต่างราคาซื้อขาย (200 บาท/บาททองคำ) นั้น ไม่กระทบวอลุ่มการซื้อขายของลูกค้าแม่ทองสุก เนื่องจากสัดส่วนของลูกค้าที่ขายทองคำยังมีมากกว่าลูกค้าที่ซื้อทองคำ เบื้องต้นคาดว่าส่วนต่างซื้อขายน่าจะกลับมาอยู่ที่ระดับปกติได้ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ขึ้นอยู่กับภาวะตลาด

ทั้งนี้ กรอบการเคลื่อนไหวระยะสั้นของทองคำในประเทศ ให้ไว้ที่ 24,700-25,200 บาท/บาททองคำ ขณะที่กรอบการเคลื่อนไหวของราคาทองคำต่างประเทศในระยะสั้น ให้ไว้ที่ 1,610-1,640 ดอลลาร์/ออนซ์

ฮั่วเซ่งเฮงมอง 1.7 พันเหรียญ

นายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทฮั่วเซ่งเฮง กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีการหารือระหว่างผู้ประกอบการกับสมาคมค้าทองคำอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูว่าส่วนต่างซื้อขายที่ 200-300 บาท/บาททองคำนั้นเพียงพอกับการรับมือสถานการณ์หรือไม่ “หากลูกค้าเอาทองคำมาขายคืนให้เรา (ร้านค้าทอง) เยอะ ในขณะที่โรงสกัดทองคำทั่วโลกปิด และไฟลต์บินที่จะบินออกหยุดหมด ก็จะส่งผลให้ระบบนิเวศในการซื้อขายทองคำสะดุดลง ส่วนทองคำแท่งใหม่ที่ลูกค้าจะซื้อก็ผลิตออกมาไม่ได้เช่นกัน เมื่อราคาเคลื่อนไหวลำบาก ส่งผลให้ธนาคารในต่างประเทศที่เคาะราคาทองคำตัดสินใจถ่างสเปรดซื้อขายออก เพื่อให้คนไม่ค่อยอยากซื้อขายทองคำในช่วงนี้ และส่งผลให้เริ่มเห็นสัญญาณลูกค้าชะลอการซื้อขายลงไปบ้าง”

ทั้งนี้ ส่วนต่างราคาซื้อและราคาขายทองคำในประเทศ ณ วันที่ 31 มีนาคม อยู่ที่ 200 บาท/บาททองคำ หรือเพิ่มขึ้นจากปกติที่ประมาณ 100 บาท/บาททองคำ ขณะที่ส่วนต่างราคาซื้อและราคาขายทองคำต่างประเทศ (gold spot) อยู่ที่ประมาณ 25 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือเพิ่มขึ้นจากปกติที่ประมาณ 30 เซนต์

ภาพรวมราคาทองคำระยะข้างหน้าควรจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สอดรับกับประเด็นที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ (การทำ QE) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดดอกเบี้ยลง

“ตอนนี้เราประเมินแนวต้านทองคำโลกไว้คร่าว ๆ ที่บริเวณ 1,673-1,700 เหรียญ ส่วนราคาในบ้านเรายังมีปัญหาการตั้งราคา จึงยังไม่สามารถประเมินได้เพราะสเปรดถ่างกว้างมาก” นายธนรัชต์กล่าว

นายธนรัชต์กล่าวว่า ปัจจุบันวอลุ่มการซื้อขายเริ่มเบาบางลง ทั้งวอลุ่มการซื้อขายที่สาขาและวอลุ่มการซื้อขายบนออนไลน์ อย่างกรณีของร้านทองฮั่วเซ่งเฮงประเมินคร่าว ๆ ว่าวอลุ่มการซื้อขายน่าจะลดลงไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง