“สมคิด” ยกทุกประเทศต้องกู้ดูแลประชาชน

FILE PHOTO: Photo by Vichan Poti/Pacific Press/LightRocket via Getty Images

วันที่ 16 เมษายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะมีงบประมาณโดยตัวของมันเอง ในการดูแลประชาชนที่เดือดร้อน ดังนั้นทุกประเทศไม่มีใครคาดว่าจะมีโวคิด-19 เกิดขึ้น ดังนั้น งบประมาณจึงเป็นงบตามระบบปกติ เช่น ประเทศไทยมีงบประมาณกลาง ซึ่งพอมีโควิด-19 เข้ามา ทุกประเทศก็ต้องหันเข้ามาพึ่งพาการกู้ยืม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นอเมริกา สิงค์โปร์ และอื่นๆ ก็มีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน เพื่อนำเงินมาดูแลประชาชนที่เดือดร้อน กระทรวงการคลังจึงได้ออกพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มาใช้ดูแลประชาชน ส่วนในเดือนพ.ค. จะมีการกู้เงินล็อตแรกจำนวนเท่าไหร่นั้น หน่วยงานที่ดูแลกำลังพิจารณาอยู่ แต่มีเยียวยา วงเงิน 6 แสนล้านบาทแล้ว

และวานนี้ (15 เม.ย.) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่า ตัวเลขหนี้ทั้งหมดของโลกจะสูงมากทั้งปีนี้และปีหน้า สนับสนุนให้กู้เพื่อนำมาดูแลประชาชน ซึ่งกระทรวงการคลังก็ได้มีการคาดคะเนแล้วจึงได้ออกพ.ร.ก.ในระยะเวลาที่พอดี เพราะเงินที่ดูแลประชาชนขณะนี้มาจากงบกลาง ซึ่งเป็นงบดูแลประชาชนปกติ  จึงได้มีการวางแผนว่าต้นเดือนพ.ค.63 จะสามารถกู้เงินได้ เนื่องจากผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ซึ่งเมื่อกู้เงินแล้วก็จะนำมาสานต่องบประมาณปกติ ยืนยันว่า ทั้งหมดนี้เป็นไปตามแผนงานการก่อหนี้ และจะก่อหนี้เป็นช่วงๆ ตามว่าแต่ละช่วงนั้นจะมีการใช้จ่ายอย่างไร ฉะนั้น การขาดแคลนเงินจะไม่เกิด เพราะมีแผนงานรองรับอยู่แล้ว

“สำหรับการก่อหนี้ แยกออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มการเยียวยา กลุ่มดูแลเศรษฐกิจท้องถิ่นในอนาคตข้างหน้า เพื่อให้คนมีงานทำ และดูแลภาคการเงิน ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะหากการเงินมีปัญหาทุกอย่างจะล่มสลาย โดยได้ดูแลในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมแล้ว เพราะหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกพ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนแล้ว ตลาดตราสารหนี้ก็นิ่งแล้ว ซึ่งที่บอกว่าเราจะไม่มีเงิน งบประมาณไม่มีใครเยียว แต่เรามีเงินกู้เข้ามาเสริมพอดีๆ ฉะนั้น ไม่มีอะไรที่จะต้องกังวล” นายสมคิด กล่าว

นอกจากนี้ ได้เตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระตุ้นการผลิตเศรษฐกิจท้องถิ่น เพื่อรองรับประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงาน การผลิต และตลาด ฉะนั้น จากวันนี้ไปจะต้องมีการเตรียมแผนงานทั้งการผลิต ตลาด และการขนส่ง โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้ามาคุมแผนการผลิตและปล่อยสินเชื่อให้ภาคการเกษตรและท้องถิ่น ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า และได้เชิญภาคเอกชน ที่เป็นซุปเปอร์มาเก็ตทั่วประเทศ เข้ามาตกลงร่วมกันว่าจะช่วยกระจายสินค้าช่วยเกษตรกรอย่างไร โดยปตท. ได้เข้ามาร่วมด้วย เพราะปั๊มน้ำมันแต่ละแห่งของปตท. มีทั้งเซเว่น เคอรี่ และไปรษณีย์ไทย ที่จะช่วยเรื่องโลจิสติกส์ได้ ฉะนั้นจะให้ ปตท. เข้ามามองแผนการด้านตลาดร่วมกับภาคเอกชน เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ การกู้ยืมของกระทรวงการคลังสะท้อนความเข้มแข็งของประเทศไทย เพราะหนี้ต่อจีดีพีของประเทศไทยที่สะสมมามีเพียง 41-42% ขนาดกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านบาท ตัวเลขยังอยู่ระดับมาตรฐาน ซึ่งถือเป็นอานิสงค์ของคนไทยที่มีการดูแลกันในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เงินที่ยืมกู้มาใช้ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง

Advertisment