“โควิด” ทุบเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ทรุด สินเชื่อใหม่วูบ-หนี้เสียทะยาน

ธุรกิจ “เช่าซื้อมอเตอร์ไซค์” ยอดสินเชื่อใหม่ชะลอหนัก เศรษฐกิจวูบ-โควิดทุบซ้ำ คาดทั้งปีสินเชื่อใหม่ลดลง 30% “เวิลด์ลีส” ห่วงหนี้เสียทะยานแตะ 8% เข็นมาตรการเร่งช่วยลูกค้า 4-5 หมื่นราย “พักหนี้” ทั้งต้นทั้งดอก ด้าน “ฐิติกร” ให้พนักงานติดต่อลูกค้าออกมาตรการช่วยเหลือเป็นรายกรณี

นายทวีพล เจริญกิตติคุณไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เวิลด์ลีส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เริ่มเห็นสัญญาณการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในไตรมาส 1 ชะลอตัวลง 10-15% โดยเฉพาะช่วงปลาย มี.ค. และคาดว่าในเดือน เม.ย. น่าจะเห็นยอดสินเชื่อใหม่หายไปกว่า 50% จากปกติ จากเศรษฐกิจที่ชะลอและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับปีนี้บริษัทมีการคัดกรองเลือกลูกค้า ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่ายอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้ทั้งปีจะลดลงราว 25-30% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4,000 ล้านบาท

“ปีนี้ยอดสินเชื่อใหม่น่าจะลดลงมาอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างสิ้นปีน่าจะอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท จากเป้าหมายเดิมตั้งไว้ที่ 7,000 ล้านบาท” นายทวีพลกล่าว

ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีทิศทางเพิ่มขึ้น จาก 5% หรือราว 200 ล้านบาท เพิ่มเป็น 300 ล้านบาท หรืออยู่ที่ราว 8% ของสินเชื่อรวม

ส่วนการช่วยเหลือลูกค้าช่วงนี้ นายทวีพลกล่าวว่า บริษัทจะมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าตามแนวนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ผ่อนชำระดี แต่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องชั่วคราวจากปัญหาโควิด-19 คือ พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 3 เดือน หากลูกค้ายังชำระไม่ไหว จะพิจารณาขยายเวลาเพิ่มเป็นรายกรณี ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าเข้าโครงการแล้วประมาณ 1 หมื่นราย มูลหนี้รวมหลักร้อยล้านบาท ทั้งนี้ ประเมินว่าจะมีลูกค้าเข้าร่วมโครงการราว 4-5 หมื่นราย

“ตอนนี้สินเชื่อปล่อยใหม่ทุกคนระมัดระวังกันหมด และความต้องการลูกค้าก็หายไป ซึ่งเป็นเหมือนกันทั้งระบบ ก็ต้องเน้นช่วยเหลือลูกค้าก่อนเป็นอันดับแรก” นายทวีพลกล่าว

นายประพล พรประภา รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ฐิติกร (TK) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างปรับแผนการเติบโตธุรกิจในปี 2563 คาดว่าพอร์ตสินเชื่อน่าจะมีอัตราการเติบโตติดลบ 20-30% เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเดือน เม.ย.เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวชัดเจน และกระทบหลากหลายอาชีพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็คาดว่ายอดขายรถจักรยานยนต์จะออกมาติดลบเช่นเดียวกันกับยอดขายรถยนต์ที่ลบไปราว 20% ดังนั้น ยอดสินเชื่อไตรมาส 1 ที่ผ่านมา น่าจะชะลอตัว และจะหดตัวเพิ่มขึ้นในเดือน เม.ย.

“บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ โดยจะมีมาตรการออกมา ซึ่งขณะนี้บริษัทได้ให้พนักงานติดต่อลูกค้าทุกราย เพื่อสอบถามถึงผลกระทบและดูความต้องการ โดยจะพิจารณาการช่วยเหลือเป็นรายกรณี ซึ่งเราอยากดูตัวเลขชัด ๆ อีก 1-2 สัปดาห์นี้ก่อน โดยคงต้องปรับเป้าใหม่” นายประพลกล่าว