ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวขณะตลาดจับตาตลาดน้ำมัน

REUTERS/Angus Mordant/File Photo

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 23 เมษายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/4) ที่ระดับ 32.34/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (22/4) ที่ระดับ 32.35/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่นักลงทุนยังคงต้องการซื้อสกุลเงินปลอดภัย ถึงแม้ว่าตลาดการเงินเริ่มเข้าสู่เสถียรภาพและราคาน้ำมันฟื้นตัวขึ้นมาบ้างแล้วก็ตาม ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้น 5.4% ในวันพุธ หลังจากดิ่งลงในวันจันทร์และวันอังคาร ส่วนราคาน้ำมันดิบสหรัฐทะยานขึ้น 19.1% ในวันพุธ โดยได้รับแรงหนุนจากข่าวที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) อาจจะปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันลงไปอีก และได้รับแรงหนุนจากตัวเลขสต๊อกน้ำมันดิบในคลังสหรัฐที่ปรับขึ้น 15 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ส่วนใหญ่ แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์บางรายคาดการณ์ว่า สต๊อกน้ำมันดิบอาจพุ่งขึ้นกว่า 20 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว

อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนคาดหวังว่า สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะอนุมัติมาตรการวงเงินเกือบ 5 แสนล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งสนับสนุนให้เพิ่มการตรวจหาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยคาดว่า สภาผู้แทนราษฎรจะอนุมัติมาตรการดังกล่าวในวันพฤหัสบดีนี้ หลังจากวุฒิสภาสหรัฐได้ลงมติผ่านร่างมาตรการดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มาตรการเยียวยาดังกล่าวครอบคลุมถึงการเพิ่มวงเงินให้กับโครงการ “Paycheck Protection Program” อีกกว่า 3.10 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก โดยมีวัตถุประสงค์ให้ธุรกิจเหล่านี้ยังสามารถจ้างงานต่อไปได้ อีกทั้งยังอัดฉีดเงิน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ และสนับสนุนการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 วงเงิน 2.5 หมื่นล้านดอลลา์ด้วย นอกจากนี้ล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐลงนามในคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี (Executive Order) เพื่อบังคับใช้มาตรการห้ามไม่ให้มีการอพยพถิ่นฐานเข้าสู่สหรัฐชั่วคราวเป็นเวลา 60 วัน โดยหวังที่จะปกป้องตำแหน่งงานให้กับชาวอเมริกันที่ตกงานในช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น ค่าเงินบาทวันนี้ทิศทางยังทรงตัว อีกทั้งสำหรับประเทศไทยยังมีความคาดหวังในการผ่อนคลายล็อกดาวน์ หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในไทยมีน้อยลง และนายกรัฐมนตรีก็ระบุว่าจะมีการพิจารณาคลายล็อกดาวน์ในสัปดาห์หน้า ซึ่งก็มองว่ากลุ่มที่จะคลายล็อกดาวน์น่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า, ขนส่ง รวมถึงการบินในประเทศ แต่การคลายล็อกดาวน์จะต้องมีหลักเกณฑ์และต้องระวัง เพราะหลังคลายล็อกดาวน์คงจะต้องจับตาจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดต่อไปด้วยว่า จะมีมากขึ้นหรือไม่

อีกทั้งล่าสุดวันนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยยอดการส่งออกรถยนต์เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ 89,795 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 23.71% โดยยอดส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย โอเชียเนีย ทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และยุโรป เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง รวมถึงผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 49,112 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 17.85% อย่างไรก็ดีแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกที่เผชิญกับความไม่แน่นอนเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันยังทำให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเงินเฟ้ออีกด้วย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.30-32.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.32/32.33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (23/4) ที่ระดับ 1.0818/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (22/4) ที่ระดับ 1.0861/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในขณะที่นักลงทุนรอดูผลการประชุมสุดยอดของสหภาพยุโรป (อียู) ในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งจะหารือเกี่ยวกับการใช้งบประมาณระยะยาวร่วมกันเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ตกลงยอมรับจังค์บอนด์ในฐานะหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม เพื่อจะได้เปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์สามารถกู้เงินจากอีซีบีได้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0782-1.0834 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0786/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/4) ที่ระดับ 107.76/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (22/4) ที่รดับ 107.66/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ โดยนักลงทุนไม่ส่งสัญญาณตอบรับข่าวที่ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)กำลังพิจารณาขยายนโยบายผ่อนคลายการเงินขึ้นอีกด้วยการเพิ่มหุ้นกู้เป้าหมายและซื้อตราสารหนี้เอกชนระยะสั้น ขณะเดียวกัน นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า ญี่ปุ่นกำลังเผชิญช่วงเวลาที่มีความวิกฤตมากที่สุด ในการพิจารณาว่าจะมีการยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

อย่างไรก็ดี นายอาเบะยังคงย้ำความจำเป็นสำหรับชาวญี่ปุ่นในการหลีกเลี่ยงการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลโกลเด้น วีคจากปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้า โดยเขาสนับสนุนให้ชาวญี่ปุ่นพบกับครอบครัวผ่านทางระบบออนไลน์มากกว่า อีกทั้งคาดว่านายอาเบะจะขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในวันที่ 30 เม.ย.เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะมีการขยายเวลาประกาศภาวะฉุกเฉินออกไปหรือไม่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.51-107.86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.59/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและการบริการของสหรัฐ และจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ในวันพฤหัสบดี (23/4) รวมถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นเดือนมีนาคม ตัวเลขยอดค้าปลีกอังกฤษเดือนมีนาคม ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนี เดือน เม.ย. จากสถาบัน Ifo ตลอดจนตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐเดือนมีนาคมและความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ในวันศุกร์ (24/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.0/+0.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +3.7/+5.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ