เจียดเงินกู้ตั้งกองทุน5หมื่นล้าน เยียวยาเอสเอ็มอีคนตัวเล็กเจอพิษโควิด

คลังเล็งเจียดเงินกู้ตั้งกองทุนไม่เกิน 5 หมื่นล้าน เยียวยาโควิด-19 เน้นช่วยเหลือด้านการเงิน-ไม่ใช่ปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ ธ.ก.ส.ขอ 5.5 หมื่นล้านบาท จัดสารพัดโครงการสร้างงานในชนบท รองรับคนตกงานกลับไปทำเกษตรถาวร 1.7 ล้านคน

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาการตั้งกองทุนวงเงินไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท ดูแล SME ที่ตกหล่น หรือยังเข้าไม่ถึงแหล่งกู้เงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือไม่เคยกู้มาก่อน โดยเน้นให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินที่ไม่ใช่การให้สินเชื่อ แต่จะเป็นลักษณะใดนั้น คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์จะสามารถสรุป

“นโยบายของรัฐต้องการเข้าไปเยียวยาช่วยเหลือทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโควิด โดยจะใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท” นายอุตตมกล่าว

ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กองทุนหมู่บ้านฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการจัดทำโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมว่า ธ.ก.ส.ได้เสนอโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และธุรกิจชุมชนสร้างไทย โดยขอใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในวงเงินทั้งสิ้น 5.5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ กำหนดให้ปลายเดือน พ.ค.นี้ ธ.ก.ส.จะต้องเสนอรายละเอียดโครงการให้คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้พิจารณา เพื่อที่จะได้เริ่มทำโครงการ และมีเม็ดเงินสู่ระบบได้ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ย. 2563  นอกจากนี้ ในระหว่างนี้ ธ.ก.ส.สามารถปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือเกษตรกรไปได้ก่อน

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้เตรียมโครงการไว้รองรับแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด แล้วคาดว่าจะประกอบอาชีพเกษตรถาวร หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย จำนวน 1.7 ล้านคน จากจำนวนคนตกงานทั้งสิ้น 7 ล้านคน ที่มีการเดินทางกลับภูมิลำเนาไปทำการเกษตรราว 4 ล้านคน

โดยโครงการที่เป็นรูปธรรม อาทิ สร้างศูนย์การเรียนรู้สำหรับโครงการ 4-5 ก้าว มีกินมีใช้ จำนวน 1,200 แห่ง, การเพิ่มประสิทธิภาพของวิสาหกิจชุมชน 1.6 หมื่นกลุ่ม โดยจัดงบประมาณเข้าไปสมทบกลุ่มละไม่เกิน 1 ล้านบาท และใช้เงิน ธ.ก.ส.สมทบราว 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเน้นให้เกิดการจ้างทำการผลิตเป็นต้น