ลุ้น กนง.หั่นดอกเบี้ย 20 พ.ค.เยียวยาธุรกิจอ่วมพิษไวรัส

นักวิเคราะห์ชี้ กนง.มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% รอบการประชุม 20 พ.ค.นี้ เพื่อลดภาระ “ประชาชน-ธุรกิจ” เพิ่มเติม “TMB Analytics” ชี้ยังมีช่องว่างทำได้ ทั้งเงินเฟ้อต่ำ-อัตราดอกเบี้ยแท้จริงยังเป็นบวก เช่นเดียวกับ “ดร.พิพัฒน์” จาก “บล.ภัทร” ระบุเศรษฐกิจไทยหลังคลายล็อกดาวน์ยังไม่ฟื้นตัว คาดดอกเบี้ยนโยบายลดอีก 0.25% แถม ธปท.มีหน้าตักลดนำส่ง FIDF เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกรอบ

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินรอบวันที่ 20 พ.ค.นี้ มีโอกาสจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีกอย่างน้อย 0.25% เพื่อช่วยลดภาระให้กับประชาชนและภาคธุรกิจที่กำลังเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“ดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในภาระของประชาชนที่มีต้องผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ และภาคธุรกิจ โดยแม้ว่าตอนนี้จะมีการพักชำระหนี้ แต่ดอกเบี้ยก็ยังเดินอยู่ในช่วงที่พักหนี้ ดังนั้นถ้าลดภาระดอกเบี้ยลงไปได้ก็จะช่วยลดภาระลงได้อีก ซึ่งผมคิดว่า กนง.คงมีการลดดอกเบี้ยลงอีก โดยรอบวันที่ 20 พ.ค.นี้ก็มีความเป็นไปได้” นายนริศกล่าว

ทั้งนี้ ทาง TMB Analytics คาดการณ์ว่า การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา น่าจะออกมาหดตัว -5% ต่อปี ขณะที่ไตรมาส 2 มีแนวโน้มหดตัวหนักที่สุดน่าจะอยู่ที่ราว -8% ต่อปี ดังนั้น จึงเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่ กนง.จะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกเนื่องจากยังมีช่องว่างที่สามารถทำได้

นายนริศกล่าวว่า ทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2563 นี้ คาดว่าจะติดลบราว -2.3% โดยเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน เม.ย. 2563 อยู่ที่ -2.99% ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรกเงินเฟ้อติดลบไปแล้วเฉลี่ยที่ -0.43% ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ระดับ 0.75% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real interest rate) ในปัจจุบันอยู่ที่ 1.18% ในขณะที่อีกหลาย ๆ ประเทศติดลบ อาทิ เกาหลีใต้ -0.16% สหภาพยุโรป -1.49% สหรัฐอเมริกา -1.70% เป็นต้น

“ตอนนี้ถือว่ามีช่องให้ลดดอกเบี้ยลงอีก เพราะถ้าดูภาพทั้งปีเงินเฟ้อจะติดลบมากขึ้นไปอีก เฉลี่ยทั้งปีน่าจะ -2.3% ดังนั้น หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่เปลี่ยน ยังคงอยู่ที่ 0.75% ก็จะทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 3% เลย จึงมีพื้นที่ให้ กนง.ลดดอกเบี้ยได้อีก ซึ่งผมคาดว่าการประชุม กนง.รอบวันที่ 20 พ.ค.นี้คงมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงอีกด้วย” นายนริศกล่าว

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวว่า กนง.รอบวันที่ 20 พ.ค.นี้มีโอกาสจะลดดอกเบี้ยลงได้อีก ซึ่งจังหวะนี้จะเป็นการลดดอกเบี้ยเพื่อเยียวยาผลกระทบลูกหนี้เป็นหลัก เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ถือว่ามีความจำเป็นต้องช่วยลดภาระให้กับประชาชนและภาคธุรกิจต่อเนื่องไปเท่าที่ระบบธนาคารพาณิชย์จะทำได้ เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจไทยดูเหมือนจะผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเปิดเมืองผ่อนคลายล็อกดาวน์แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะยังไม่เดินเครื่องเต็มที่ เพราะมีคนจำนวนมากที่ตกงาน รวมถึงนักท่องเที่ยวก็คงไม่มากเหมือนเดิม

“ที่ผ่านมาผมคิดว่า ธปท.คงอยากจะเก็บกระสุนไว้ รอบที่ผ่านมาจึงยังไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่มีการลดต้นทุนให้แบงก์ด้วยการปรับลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลงไปครึ่งหนึ่ง 0.23% แล้วแบงก์ก็ลดดอกเบี้ยตามมา โดยผมมองว่าวันที่ 20 พ.ค.นี้ กนง.น่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกได้เพราะเงินเฟ้อก็หลุดกรอบ ซึ่งการลดดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระประชาชนและธุรกิจ รวมถึงหากสามารถทำให้เงินหมุนต่อไปได้ด้วยก็จะเป็นผลพลอยได้ตามมา ดังนั้น ลดดอกเบี้ยเป็นประโยชน์แน่นอน แล้วหลังจากนั้นหากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อก็อาจจะใช้วิธีลดเงินนำส่ง FIDF ตามมาอีกรอบก็ได้” ดร.พิพัฒน์กล่าว