ดอลลาร์อ่อนค่า หลังมีความคืบหน้าผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/5) ที่ระดับ 31.99/00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (18/5) ที่ระดับ 32.03/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าหลังตลาดหุ้นนิวยอร์กทะยานขึ้นขานรับรายงานความคืบหน้าผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 โดย Moderna Inc แถลงว่า ผลการทดลองทางคลินิกในการฉีดวัคซีนด้านไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้ร่างกายของอาสาสมัครผลิตแอนติบอดี้ซึ่งสามารถกำจัดเชื้อไวรัสในผู้ป่วยโควิด-19 ผลการศึกษาที่ดำเนินการโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH) พบว่าระดับของแอนติบอดี้ดังกล่าวเท่ากับในตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยที่ฟื้นตัวจากโรคโควิด-19 Moderna ยังระบุว่าวัคซีนดังกล่าวมีความปลอดภัย และตอบสนองได้ดีในการทดลองในช่วงแรก และจะเริ่มการทดลองในขั้นต่อไปในเดือน ก.ค.

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านบวก 7 จุด สู่ระดับ 37 ในเดือน พ.ค. โดยได้รับแรงหนุนจากความสนใจมากขึ้นจากผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.87-31.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.91/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทได้รับปัจจัยบวกจากความคาดหวังการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์บางส่วน เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย ส่งสัญญาณดีขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ตลาดยังติดตามผลการประชุมสำคัญของคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. ในวันที่ 20 พ.ค. ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินถึงโอกาสที่คณะกรรมการ กนง.จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% อีกครั้งสู่ระดับ 0.50% เพื่อช่วยลดภาระให้กับประชาชนและภาคธุรกิจที่กำลังเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (19/5) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0917/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (18/5) ที่ระดับ 1.0802/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนหลังมีรายงานว่าประเทศต่าง ๆ เริ่มทยอยเปิดเศรษฐกิจ หลังจากที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดในช่วงที่ผ่านมา เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดขอไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ยูโรยังได้รับแรงหนุนจากรายงานที่ว่า ฝรั่งเศสและเยอรมนีเห็นพ้องกันในการเสนอตั้งกองทุนฟื้นฟูวงเงิน 5 แสนล้านยูโร เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศในยุโรป ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องกันในการเสนอให้มีการอนุญาตให้คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) ทำการกู้ยืมเงินในตลาดการเงินในนามของ EU ถือเป็นการยุติความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาฝรั่งเศสต้องการผลักดันการตั้งกองทุนดังกล่าว ในขณะที่เยอรมนีมีท่าทีไม่เห็นด้วย เนื่องจากจะขัดต่อการรักษาวินัยทางการคลัง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0900-1.0956 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0948/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินในวันนี้ (19/5) เปิดตลาดที่ระดับ 107.31/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (18/5) ที่ระดับ 107.26/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนายทาโร่ อาโสะ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีครึ่ง ในไตรมาสเดือน ม.ค.-มี.ค. ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำมากที่สุดหลังสงครามโลก ขณะที่วิกฤตเชื้อไวรัสส่งผลกระทบร้ายแรงต่อภาคธุรกิจและผู้บริโภค นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นจะขยายกำหนดเส้นตายการของบประมาณประจำปี 2564 เพื่อให้กระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถมุ่งความสนใจไปที่การรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

โดยกำหนดเส้นตายในการของบประมาณประจำปี 2564 จะถูกเลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. จากเดิมวันที่ 31 ส.ค. ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.28-107.59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.44/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือน เม.ย. (19/5) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 28-29 เม.ย. (21/5) จำวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (21/5) ดัชนีการผลิตเดือน พ.ค. จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (21/5) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน พ.ค. จากมาร์กิต (21/5) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือน พ.ค.จากมาร์กิต (21/5) ยอดขายบ้านมือสองเดือน เม.ย. (21/5) ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน เม.ย. จาก Conference Board (21/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.65/+0.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.25/+0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ