บสย.ตั้งธงคลอดโปรดักต์ค้ำสินเชื่อเฟสใหม่ 2.5 แสนล้านบาท

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ช่วงต้นเดือนมิ.ย.63 บสย. จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อย ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19 ไปได้ เนื่องจากคาดว่าโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 วงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท จะหมดภายในสิ้นเดือนพ.ค.นี้ และโครงการ บสย. เอสเอ็มอี สร้างไทย วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท ที่ออกมาตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดใช้วงเงินไปแล้วกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท และส่วนที่เหลือก็มียอดจองครบเต็มวงเงินแล้ว

สำหรับโครงการที่เตรียมไว้นั้น บสย. ได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้อนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 วงเงิน 2 แสนล้านบาท ชดเชยความเสียหายจากการเกิดหนี้เสีย 30% และยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันในช่วง 3 ปีแรก โดยจะพิจารณาช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มจะผิดนัดชำระหนี้ติดต่อกัน 2-3 งวด (SM) ให้สามารถใช้โครงการดังกล่าวได้ด้วย ซึ่งมีอยู่ราว 15% จากจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมด 3 ล้านราย

“โครงการ PGS9 จะเสนอการเคลมในปีแรกในอัตราที่สูงกว่าปกติ เช่น ปีแรกอาจค้ำลูกหนี้ที่เป็นNPL ประมาณ 5% หรือ 7% ต่อปี เป็นต้น ซึ่งเป็นการเทความเสี่ยงไว้ในปีแรก เนื่องจากสถานการณเศรษฐกิจในช่วงนี้ไม่ปกติ แต่จะเฉลี่ยแล้วยังค้ำประกันความเสียหายผู้ประกอบการเฉลี่ยอยู่ที่ 3% ต่อปี”นายรักษ์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังเตรียมโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายร่อย (micro entrepreneur) ระยะที่ 4 วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปี โดยกำหนดวงเงินค้ำประกัน 5 แสนบาทต่อราย ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี เพื่อรองรับมนุษย์เงินเดือนที่ตกงานแล้วมีความต้องการจะเปิดกิจการสร้างอาชีพ เนื่องจากโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายร่อย ระยะที่ 3 ที่บสย. ออกมาก่อนหน้านี้ วงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท ล่าสุดเหลือวงเงินเพียง 4 พันล้านบาท คาดว่าจะหมดภายในเดือนพ.ค.นี้ พร้อมกันนี้ จะพิจารณาออกโครงการ บสย. เอสเอ็มอี สร้างไทย ภาค 2 ด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางให้ครอบคลุมเอสเอ็มอีรายย่อยมากขึ้น

ทั้งนี้ บสย. มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ราว 4.5% ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 แนะ 4 จะขายหนี้คงค้างอยู่ในพอร์ตนานกว่า 28 ปี วงเงินราว 2 หมื่นล้านบาท เพื่อลดสัดส่วน NLP อย่างไรก็ดี ราคาจากการขายน่าจะไม่สูงมาก เนื่องจากบสย. ต้องการขายเพื่อขยายพอร์ตเท่านั้น ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของบสย. ในเดือนเม.ย. มีกำไรสุทธิกว่า 123 ล้านบาท ซึ่งจากการปรับกระบวนการทำงาน ส่งผลให้การดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ ระหว่าง ม.ค. – วันที่ 15 พ.ค. 2563 เติบโตขึ้นในทุกมิติ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ยอดอนุมัติการค้ำประกันสินเชื่อ อยู่ที่ 5.81 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 103%, การอนุมติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) อยู่ที่ 8.02 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 227% และจำนวนลูกค้าใหม่ อยู่ที่ 6.42 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 216%