สรรพากร อัดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 1.4 แสนล้าน ผ่านมาตรการ “เลื่อน-เร่ง-ลด-แรงจูงใจ”

กรมสรรพากร เติมเม็ดเงินลงเศรษฐกิจกว่า 1.4 แสนล้านบาท หลังออกมาตรการทางภาษี “เลื่อน-เร่ง-ลด-แรงจูงใจ” ดูแลบุคคลธรรมดา-ผู้ประกอบการรับผลกระทบจากโควิด-19

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้ผลักออกมาตรการภาษี และเร่งคืนภาษีให้กับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งจะทำเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 1.4 แสนล้านบาท ผ่านหลักปฎิบัติ 4 เรื่อง ได้แก่ “เลื่อน เร่ง ลด และแรงจูงใจ” ประกอบด้วย 1.เลื่อน กรมสรรพากรได้ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการ การนำส่ง และการชำระภาษีอากร เช่น ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90, 91, 93 และ 95) จากวันที่ 31 มี.ค. 2563 เป็นวันที่ 31 ส.ค. 2563 และขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50 และ 55) ที่ต้องชำระภายในเดือนเม.ย. – ส.ค. 2563 เป็นวันที่ 31 ส.ค. 2563 รวมทั้งขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 51) ที่ต้องชำระภายในเดือนเม.ย. – ก.ย. 2563 เป็นวันที่ 30 ก.ย. 2563

2. เร่ง คืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้วกว่า 95% จากผู้ขอคืนทั้งหมดประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นภาษีที่คืนประมาณ 28,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ในช่วง 7 เดือนแรก ของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562 – เม.ย 2563) กรมสรรพากรเร่งคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล กว่า 27,185 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.7% จากปีก่อน

3.ลด กรมสรรพากรได้ผลักดันมาตรการคืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ โดยการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่มีอัตรา 3% ให้เหลือในอัตรา 1.5% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 ก.ย. 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และเพื่อช่วยสนับสนุนการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e – Payment) โดยเฉพาะระบบ การดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่าย (e – Withholding Tax)​ กรมสรรพากรได้ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากอัตรา 3% ให้เหลือ 2% สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 – 31 ธ.ค. 2564 ที่จ่ายผ่านระบบ e – Withholding Tax

4.แรงจูงใจ กรมสรรพากรได้ออกมาตรการภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน ผู้ประกอบการ และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการคงการจ้างงานในช่วงสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของ โควิด-19 โดยผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน สามารถหักรายจ่ายได้ 3 เท่า สำหรับรายจ่ายค่าจ้างในช่วงเดือนเม.ย.– ก.ค. 2563 เป็นต้น