แบงก์สำรองหนี้”การบินไทย”หมื่นล้าน เร่งปิดความเสี่ยงก่อนเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ

การบินไทย
Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

“กรุงไทย-ออมสิน” ตั้งสำรองหนี้ “บินไทย” 1.1 หมื่นล้านบาท หลัง ครม.ไฟเขียวเข้าฟื้นฟูกิจการตามกระบวนการกฎหมายล้มละลาย เตือนดูแลผลกระทบสหกรณ์ที่ลงทุนหุ้นกู้การบินไทย หวั่นลามกระทบสหกรณ์ที่อ่อนแอ ฟากผู้ว่าการ ธปท. รับต้องเร่งออกเกณฑ์กำกับเข้มข้นขึ้น แต่เบื้องต้นมองผลกระทบไม่น่าจะลุกลามเหมือนกรณีกองทุนรวม เหตุระบบสหกรณ์มีเงินฝากบริหารสภาพคล่องรองรับได้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ บมจ.การบินไทย ยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย ทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าหนี้ ต้องมีการตั้งสำรองหนี้ทั้งส่วนที่เป็นเงินกู้ และส่วนที่เป็นหุ้นกู้ด้วย โดยธนาคารออมสินตั้งสำรองทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท จากวงเงินปล่อยกู้ที่เหลือคงค้างอยู่ราว 3,500 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ถืออยู่อีกราว 1,500 ล้านบาท ส่วนธนาคารกรุงไทย ต้องตั้งสำรองประมาณ 6,000 ล้านบาท

“ตอนนี้แบงก์เจ้าหนี้แต่ละราย ต้องเร่งตั้งสำรองหนี้การบินไทยทั้งจำนวนทันที เพราะบริษัทจะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ อาจจะไม่ได้รับการชำระหนี้เต็มจำนวน ซึ่งคาดว่านอกจากธนาคารออมสินกับธนาคารกรุงไทยแล้ว เจ้าหนี้รายอื่น ๆ ก็ต้องตั้งสำรองเหมือนกัน” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ขณะนี้สิ่งที่น่ากังวล ก็คือ ผู้ถือหุ้นกู้ โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งพบว่ามีสหกรณ์บางแห่งใน 82 แห่งที่ถือหุ้นกู้การบินไทย ถูกสมาชิกไถ่ถอนเงินออกวันละ 200-300 ล้านบาท โดยรัฐบาลต้องรีบเข้าไปดูแล เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะลุกลาม ส่งผลกระทบไปสู่สหกรณ์อื่น ๆ

“ปกติสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีเงินเหลือ ก็จะมีการนำเงินไปปล่อยกู้ต่อให้สหกรณ์อื่นด้วย ซึ่งสหกรณ์ที่กู้ต่อนั้น ก็มักจะเป็นสหกรณ์ที่มีฐานะอ่อนแอ จึงต้องระวังผลกระทบ รัฐบาลคงต้องมีมาตรการออกมาดูแล” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายตลาดทุน กล่าวว่า กรณีการบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ในแง่ผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นกู้ คงขึ้นอยู่กับแผนฟื้นฟู ว่าจะมีการตัดหนี้ (แฮร์คัต) หรือไม่ ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้กับเจ้าหนี้ ต้องมาคุยกันว่าจะแฮร์คัตหรือไม่อย่างไร โดยหากแฮร์คัต ผู้ถือหุ้นกู้จะเสียประโยชน์ หรือหากแผนฟื้นฟูไม่มีการแฮร์คัต สามารถจ่ายหนี้ได้หมด ผู้ถือหุ้นกู้ก็ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็อาจมีการขยายเวลาชำระหนี้

“ที่แน่ ๆ ผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นกู้ ก็คือ จะยังไม่ได้รับการชำระหนี้ทันที ต้องรอจนกว่าแผนฟื้นฟูจะออกมาชัดเจน แต่ถามว่าสูญไหม ก็ไม่น่าจะสูญถ้าสามารถฟื้นฟูกิจการได้ แต่ถ้าเกิดล้มลายจะอันตราย โดยเมื่อมีการฟื้นฟู ผู้ถือหุ้นกู้จะมีสิทธิอยู่ 2 อย่าง คือ 1.การแปลงหนี้เป็นทุน กับ 2.คงถือเป็นหุ้นกู้ไว้” แหล่งข่าวกล่าว

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบจากการถือหุ้นกู้การบินไทยของแต่ละสหกรณ์ จะขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการในแต่ละแห่ง โดยปกติจะมีเกณฑ์เรื่องการเข้าไปถือตราสารในบริษัทต่าง ๆ ว่าทำได้ในสัดส่วนเท่าใด เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงจนเกินไป อย่างไรก็ดี มีการยกเว้นกรณีเข้าไปซื้อหุ้นกู้รัฐวิสาหกิจ จึงทำให้มีบางสหกรณ์เข้าไปลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยค่อนข้างมาก ซึ่งทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ก็ติดตามเรื่องสภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์อยู่

ทั้งนี้ ในภาพรวม สหกรณ์น่าจะบริหารจัดการสภาพคล่องได้ เนื่องจากระบบสหกรณ์ออมทรัพย์มีกลไกบริหารเงินฝาก โดยเงินฝากของสมาชิก จะไหลเข้าบัญชีสหกรณ์ทุกเดือน ผลกระทบจึงไม่น่าจะลุกลามรุนแรงเหมือนกรณีกองทุนรวมที่เมื่อมีการขายหน่วยลงทุนออกไปต่อเนื่อง มูลค่าสินทรัพย์รวม (NAV) จะลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้น ผู้ที่ขายช้าก็อาจจะขาดทุนมาก จึงเกิดการแย่งกันขาย

“สหกรณ์ออมทรัพย์มีทุนและมีเงินฝากโดยคนฝากเงินจะได้ดอกเบี้ยถือหุ้นก็ได้เงินปันผลทุกปี ถ้าออกก่อนจะได้เท่าราคาพาร์ ก็คือ 10 บาท ไม่ว่าสหกรณ์จะมีเงินสะสมอยู่ที่เท่าใดก็ตาม แต่กองทุนรวม ใส่เงินไป 10 บาท หากได้กำไร NAV ก็ขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ถ้ามีการขาย แล้วคนออกช้า อาจจะเหลือแค่ 9 บาท ส่วนสหกรณ์จะออกตอนไหนก็ได้ 10 บาท ดังนั้นโอกาสจะมีผลกระทบรุนแรงจึงมีน้อยกว่า” นายวิรไทกล่าว

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า หลังจากนี้ คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงมีการเร่งออกเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ตามกฎหมายสหกรณ์ฉบับใหม่ที่บังคับใช้แล้ว แต่กฎหมายลูกยังไม่ออกมา อาทิ เรื่องเกี่ยวกับเกณฑ์การลงทุน เรื่องธรรมาภิบาลของกรรมการ คุณสมบัติของกรรมการ เป็นต้น