ค่าเงินบาทผันผวน ตลาดจับตาดูตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่าง 1-5 มิถุนายน 2563  ค่าเงินบาทค่อนข้างผันผวนในสัปดาห์นี้ โดยเปิดตลาดในวันจันทร์ (1/6) ที่ระดับ 31.74/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (29/5) ที่ระดับ 31.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์ได้รับแรงกดดันจากรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาแย่กว่าคาดการณ์ในวันศุกร์ (29/5) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ลดลง 0.5% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการดิ่งลงมากที่สุดในรอบกว่า 5 ปี นอกจากนี้ การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐก็ปรับตัวลดลงถึง 13.6% ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูล

ทางด้านนายเจอโรมพาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาชี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใกล้ที่จะดำเนินการปล่อยเงินกู้ให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ของสหรัฐแล้ว โดยโครงการดังกล่าวจะเสนอเงินกู้อายุ 4 ปีให้แก่บริษัทที่มีพนักงานไม่เกิน 15,000 คน และมีรายได้ไม่เกิน 5 พันล้านดอลลาร์/ปี โดยวงเงินกู้เริ่มตั้แต่ 500,000 ดอลลาร์ไปจนถึง 100 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเช้าวันพฤหสบดี (4/6) ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าเทียบเงินสกุลหลัก หลังออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐลดลง 2.75 ล้านตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม แต่เป็นระดับดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 8.75 ล้านตำแหน่ง

อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังมีความกังวลในประเด็นเรื่องการประท้วงเรื่องการเหยียดสีผิวในอเมริกาที่มีทีท่ายืดเยื้อ รวมถึงประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ล่าสุดทางรัฐบาลสหรัฐเตรียมสั่งห้ามสายการบินของจีนเดินทางเข้าสู่สหรัฐ นับตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อกดดันให้จีนเปิดทางให้สายการบินของสหรัฐเดินทางไปยังจีน

ในส่วนของค่าเงินบาท ในวันพฤหัสบดี (4/6) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 99.76 ลดลง -3.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าแตะระดับ 31.64 บาท/ดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาแข็งค่าในช่วงบ่าย โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 48.2 จาก 47.2 ในเดือนเมษายน นับเป็นการฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 15 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือนพฤษภาคมก็ปรับตัวดีขึ้นแตะ 40.2 จาก 39.2 ในเดือนก่อน โดยมีปัจจัยหนุน ได้แก่ การปลดล็อกของรัฐบาล, การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย และการส่งออกเดือนเมษายนที่เพิ่มขึ้น 2.21% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ  31.42-31.83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (5/6) ที่ระดับ 32.47/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า โดยเปิดตลาดในวันจันทร์ (1/6) ที่ระดับ 1.1137/41 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (29/5) ที่ระดับ 1.1125/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้แรงหนุนจากการที่คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) ออกมาเปิดเผยรายละเอียดของกองทุนฟื้นฟู วงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร ที่จะใช้ในการเยียวยาเศรษฐกิจของ EU ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้กองทุนฟื้นฟูดังกล่าวประกอบด้วยเงินให้เปล่าจำนวน 5 แสนล้านยูโร และเงินกู้ 2.5 แสนล้านยูโรสำหรับชาติสมาชิก EU ภายใต้ข้อเสนอดังกล่าว EC จะกู้ยืมเงินจากตลาด โดยจะมอบเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า 2 ใน 3 และที่เหลือจะนำไปปล่อยกู้ต่อไป

นอกจากนี้ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวดีขึ้นแตะระดับ 30.5 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน หลังจากทรุดตัวลงแตะระดับ 12 ในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคบริการของยูโรโซนยังคงเผชิญภาวะหดตัวอยู่ อีกทั้งการเจรจาระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) รอบที่ 4 ที่มีขึ้นในสัปดาห์นี้ยังเป็นอีกปัจจัยหนุนค่าเงินยูโร โดยการเจรจาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จะสิ้นสุดในวันศุกร์ (5/6) โดยจะเน้นเรื่องสิทธิในการประมงนอกชายฝั่งอังกฤษ การเจรจาครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะเข้าร่วมการประชุมกับผู้นำ EU ในเดือนหน้าเพื่อประเมินความคืบหน้าของการเจรจา ทั้งนี้นักวิเคราะห์มองมีความเป็นไปได้ที่อังกฤษจะแยกตัวจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง หากการเจรจาการค้าระหว่างอังกฤษและ EU ในสัปดาห์นี้ยังคงไม่มีความคืบหน้า

ในวันพฤหัสบดี (4/6) ค่าเงินยูโรแข็งค่าเหนือระดับ 1.1300 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม แต่ได้ปรับเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) อีก 6 แสนล้านยูโร รวมเป็น 1.36 ล้านล้านยูโร และได้ขยายเวลาในการซื้อพันธบัตรตามโครงการนี้ออกไปจากสิ้นปีนี้เป็นเดือนมิถุนายน 2564 อีกด้วย อย่างไรก็ดี ในวันเดียวกัน นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มหดตัวลง 8.7% ในปีนี้ โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังมองว่าเงินเฟ้อจะไม่สามารถขยายตัวได้ตามเป้าที่ระดับ 2% โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) มีแนวโน้มขยายตัวเพียง 0.3% ในปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 1.1% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1094-1.1383 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (5/6) ที่ระดับ 1.1346/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดในวันจันทร์ (1/6) ที่ระดับ 107.65/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/5) ที่ระดับ 107.23/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐในวันจันทร์ 1/6) มีรายงาน Manufacturing PMI ออกมาที่ระดับ 38.4 สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้นำเข้ารถยนต์แห่งญี่ปุ่นรายงานว่า ยอดขายรถยนต์นำเข้าในเดือนพฤษภาคมกลับลดลง 46.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการซื้อขายในตลาดรถยนต์ และทำให้ประชาชนต้องกักตัวอยู่บ้าน อีกทั้งยอดขายยังปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 นับตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้ว อันเป็นผลมาจากการปรับขึ้นภาษีการอุปโภคบริโภคจากระดับเป็น 10% เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562

ต่อมาในวันพฤหัสบดี (4/6) นายยาชูโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกมาแสดงความมั่นใจว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่วงเงิน 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติในเดือนก่อนจะช่วยหนุนให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวราว 2% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.36-109.41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (8/5) ที่ระดับ 109.29/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ