“ปรีดี” แนะดึง บสย. ค้ำสินเชื่อคลายล็อกปล่อยกู้ซอฟต์โลน

ปรีดี ดาวฉาย
แฟ้มภาพ

กสิกรไทย ยันมีแผนสำรองรับลูกหนี้ทุกรายหลังหมดมาตรการพักหนี้ 6 เดือน เชื่อยังมีกลุ่มเปราะบาง เน้นปรับโครงสร้างนี้-ขยายเวลาชำระเพิ่ม เผยอุ้มลูกค้ากว่า 1 แสนราย วงเงินกว่า 6 แสนล้านบาท จ่อดึง บสย.ช่วยค้ำประกันสินเชื่อซอฟต์โลนลดความเสี่ยง ชี้ แบงก์มีฐานเงินทุนจำกัด พิจารณาตามความเสี่ยงลูกค้า

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตอนนี้เชื่อว่าหลายธนาคารรวมกถึงกสิกรไทยได้มีการพูดคุยถึงแผนรองรับภายหลังจากหมดมาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนครบกำหนด ลูกค้าบางกลุ่มยังไม่สามารถกลับมาชำระได้ตามปกติ โดยธนาคารมองว่า การดูแลไม่จำเป็นต้องออกมาตรการภาพใหญ่ออกมา แต่จะเน้นดูแลรายลูกค้าทุกรายที่ยังมีปัญหา ซึ่งการดูแลส่วนใหญ่จะมีทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ยืดเวลาการผ่อนชำระ หรือลดดอกเบี้ย เป็นต้น

ทั้งนี้ จะเห็นว่าธนาคารกสิกรไทยได้ช่วยลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการต่างๆ ไปรวมกว่า 1 แสนราย วงเงินมากกว่า 6 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี หากลูกค้ายังไม่สามารถฟื้นตัว ธนาคารก็พร้อมจะช่วยเหลือลูกค้าต่อขึ้นอยู่กับอาการลูกค้า เช่น บางรายเริ่มมีกำลังชำระหนี้ไม่อยากยืดเวลา ลูกค้าก็สามารถกลับมาชำระได้ โดยธนาคารจะเซ็ตเทอมการชำระหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับลูกค้า

“แนวโน้มเอ็นพีแอลแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงกับธนาคารอยู่แล้ว แต่ธนาคารมีแผนรองรับ และเชื่อว่าทุกธนาคารได้เตรียมตัวอยู่ แต่จะเห็นว่าปัจจุบันฐานเงินกองทุนของสถาบันการเงินยังแข็งแกร่งสามารถรองรับปัญหาได้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะรองรับได้นานแค่ไหน ส่วนเรื่องการตั้งสำรองและการจัดชั้นหนี้ธนาคารตั้งไว้ครบไว้ทั้งหมดตามสูตรอยู่แล้ว”

และภายในเดือนนี้ธนาคารจะมีการปรับแผนธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ และจะเสนอคณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) เพื่อพิจารณาต่อไป

นายปรีดี กล่าวต่อไปว่า สำหรับการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 5 แสนล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตอนนี้อยู่ระหว่างการหารือภายในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) เพื่อผ่อนคลายหลักเกณฑ์ที่เป็นข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน เนื่องจากการพิจารณาสินเชื่อจะต้องเป็นไปตามความเสี่ยง หากพิจารณาลูกค้าและพบว่าไม่มีความสามารถชำระคืนหนี้ อาจจะไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ เพราะธนาคารมีข้อจำกัดในเรื่องเงินกองทุน จึงไม่สามารถปล่อยให้ทุกคนได้

ดังนั้น จึงมีการพูดคุยกันภายในคณะกรรมการฯ ในการผ่อนคลายและทำให้การปล่อยสินเชื่อคล่องตัวขึ้น เช่น การดึงบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อ ภายหลังจากสิ้นสุดโครงการ 2 ปี ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ภายใต้โครงการ PGS 9

“ธปท.ก็พยายามเต็มที่ แบงก์ก็พยายามเต็มที่ในการเร่งปล่อยสินเชื่อ แต่เริ่มแรกมีหลายอย่างที่สับสน ทั้งลูกค้าและพนักงานที่ไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้การสื่อสารเริ่มชัดเจน สิ่งที่เป็นประเด็น จะเป็นเรื่องการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งใครไม่มีความเสี่ยง มีหลักประกันตามธนาคารกำหนดก็ได้วงเงินไป แต่ใครมีความเสี่ยงไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ เราก็ไม่สามารถให้สินเชื่อได้ เพราะเรามีข้อจำกัดเรื่องเงินกองทุน จึงมีการคุยภายในว่าจะดึงบสย.เข้ามาช่วยค้ำประกันอีกทางลดความเสี่ยงให้แบงก์”