ไทยพาณิชย์ชู 4 ยุทธศาสตร์ ลดต้นทุน-เพิ่มรายได้เข็นธุรกิจฝ่าโควิด

ไทยพาณิชย์เดินกลยุทธ์ 4 ด้าน รับมือโควิด-New Normal เน้นคุณภาพสินเชื่อ-เพิ่มรายได้-คุ้มค่าใช้จ่าย-ต่อยอดด้านดิจิทัล จ่อทบทวนเป้าหมายธุรกิจเติบโตใหม่ เผยพร้อมอุ้มลูกค้าพักหนี้-ปรับโครงสร้างหนี้-ฟื้นฟูกิจการต่อ ชี้ เงินกองทุนแกร่ง-เร่งตั้งสำรองล่วงหน้า

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภายใต้เศรษฐกิจที่มีความเปราะบางจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อการดำเนินธุรกิจธนาคารและการแข่งขัน ทำห้ธนาคารต้องมีการบริหารความเสี่ยงทางด้านสินเชื่อและการเงินอย่างรัดกุม รวมถึงการสร้างกำไรให้ธุรกิจหลักและการสร้างธุรกิจในยุคความปกติใหม่ (New Normal) ควบคู่กับการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ดังนั้น ในปี 2563 ธนาคารกำหนดกลุยทธ์ 4 ด้านด้วยกัน คือ 1.ด้านสินเชื่อ เน้นการดูแลคุณภาพสินเชื่อมากกว่าการเติบโตทางด้านปริมาณ โดยจะใช้การวิเคราะห์ข้อมูลสินเชื่อ และทำงานใกล้ชิดกับลูกค้า 2.การเพิ่มรายได้ จากธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) โดยดึงโรบอทเข้ามาช่วยเพิ่มผลตอบแทนและการลดต้นทุน และต่อยอดการสร้างรายได้ของธุรกิจประกันจากการร่วมทุนของ FWD ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้า สะท้อนจากไตรมาสที่ 1 ที่มีผลการดำเนินเติบโตก้าวกระโดด

และ 3.การควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการทำงานโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุน และ 4.การต่อยอดด้านดิจิทัล โดยการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยรู้จักลูกค้าและสร้างความพันธ์ลูกค้า ขณะเดียวกัน ธนาคารยังคงเน้นการรักษาฐานกำไรให้เติบโต ซึ่งที่ผ่านมาการเปิดตัวของบริษัท เอสซีบี เท็กเอกซ์ จำกัด จะเป็นเครื่องยนต์หลักในการสร้างธุรกิจใหม่ทดแทนรายได้ที่หายไป

“สถานการณ์ค่าใช้จ่ายพอจะเริ่มรู้ว่าไม่เพี้ยนไปจากที่มองไว้ แต่สถานการณ์รายได้จะต้องดูว่าหลังจากผ่อนคลายเราเริ่มทำได้ดีขนาดไหน จากในไตรมาสที่ 1 แต่เราทำได้ดีในธุรกิจประกันและธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง แต่เราต้องสร้างต้นทุนที่ดีเพื่อรองรับความผันผวนได้ ซึ่งในหลายๆ โปรเจ็กต์เราพับแผนเพื่อลดต้นทุน การทำโปรโมชั่นแข่งขัน อย่างไรก็ดี เป้าหมายการเติบโตของธุรกิจจะต้องทบทวนในหลายส่วน เช่น อัตราการเติบโตสินเชื่อย่อมมีผลกระทบจากโควิด-19”

นายอาทิตย์กล่าวว่าต่อไปว่า ผลจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้สร้างผลกระทบต่อลูกค้าเงินกู้ธนาคาร ธุรกิจรายย่อยเป็นวงกว้าง ดังนั้น การดูแลเยียวยาประคับประคองให้ลูกค้าสามารถเดินไปได้ เมื่อสถานการณ์ผ่อนคลายจะทำให้ลูกค้ามีโอกาสรอด อย่างไรก็ดี ระยะเวลาการพักชำระหนี้มีหลากหลายโปรแกรม 3-6 เดือนแล้วแต่ลูกหนี้ สิ่งที่พักชำระหนี้ เป็นเพียงการชำระเงินต้น แต่ดอกเบี้ยมีการคิดดอกเบี้ยตามปกติ

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังธนาคารจะต้องปรับโครงสร้าง เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถชำระคืนของลูกหนี้ที่พักหนี้ แม้ว่าช่วงแรกผลกระทบยังไม่เกิดกับธนาคาร แต่อนาคต จะมีคนที่ไปต่อไม่ได้บ้าง แม้ว่าตามแนวทางของธปท. ยังไม่ได้บังคับว่าธนาคารต้องจัดชั้นลูกหนี้ไปเป็นเอ็นพีแอล ทำให้ธนาคารต้องรอดูว่าการช่วยลูกค้าเยียวยาหลังวิกฤตโควิด-19 จบลง จะมีคนที่กลายเป็นเอ็นพีแอลมากน้อยแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีนโยบายการตั้งสำรองที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง และถือว่าอยู่ในระดับที่ถือว่าสูงเมื่อเทียบระบบธนาคารพาณิชย์ โดยมีการตั้งสำรองต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 3-4 ในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ขณะที่เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ระดับสูงที่ 18%

“สิ่งที่เกิดขึ้นกระทบต่อธุรกิจเฉียบพลัน แต่ไม่ได้ทำให้ธุรกิจล้มหายไปเลย เราจึงต้องช่วยเหลือเยียวยาให้ลูกค้าอยู่รอดได้ และกลับมาเป็นปกติรับยุคนิวนอร์มอล เพื่อการใช้เงินฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจากข้อมูลที่เราพักชำระหนี้ให้ลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคท่องเที่ยว และบางส่วนเป็นส่งออก คาดวู่รกิจจะทยอยกลับมาดีขึ้นหลังมีการคลายล็อกดาวน์”