ย้อนรอย 23 ปี วิกฤต “ต้มยำกุ้ง ปี’40” เปรียบเทียบ “โควิด ปี’63”

2 ก.ค. 2563 ถือเป็นวันครบรอบ 23 ปี ที่ประเทศไทยประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตต้มยำกุ้ง

หลังการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หรือสมัยนั้นเรียกว่าลดค่าเงิน ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง จากเดิมกำหนดไว้ที่ 25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินบาทขยับขึ้นไปกว่า 50 บาท/ดอลลาร์ ทำให้สถาบันการเงินและภาคธุรกิจที่ก่อหนี้ต่างประเทศ มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และนำไปสู่การปิด 58 ไฟแนนซ์ และธนาคารพาณิชย์ต้องล้มละลายและฉุดให้เศรษฐกิจตกตํ่าอย่างรุนแรง จนทำให้รัฐบาลไทยต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า วันที่ 2 ก.ค. 2563 ครบรอบวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งเป็นวิกฤตการเงินที่ก่อเกิดหนี้ครั้งใหญ่ขึ้นมามากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบันผ่านมา 23 ปี ใช้หนี้ไปแค่ 7 แสนล้านบาท และยังเหลืออีกกว่า 7 แสนล้านบาท (กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน) เพราะฉะนั้นเราจะต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดภาพอย่างวันนั้น วันนี้จึงต้องหามาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการที่ให้สถาบันการเงินยังสามารถดำรงเงินกองทุนได้ แม้จะเจอผลกระทบที่รุนแรงยังสามารถยืนอยู่ได้

“เพราะฉะนั้นถามว่าวันนี้ห่วงแค่ไหน ยังไม่มีใครตอบได้ ถ้าสมมุติบอกแย่ต่อไปเรื่อยๆ ก็ไม่มีใครอยู่ได้ แต่จากการประเมินระยะเวลาของการดูแลเรื่องวัคซีนโควิดจะมาในปีหน้า ซึ่งทุกอย่างกำลังปรับตัว ภาวะเศรษฐกิจแน่นอนว่าความเสียหายเกิดขึ้น แต่ในบางช่วงบางจังหวะคนขาดรายได้ รัฐบาลที่กู้เงินไปแจกประชาชนแล้ว รัฐบาลก็เป็นหนี้ แต่ถามว่าทำไมต้องทำมาตรการเหล่านี้ก็เพื่อช่วยเหลือประชาชน”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า วิกฤตปี 2540 มิใช่เป็นเพียงวิกฤตค่าเงินบาทเท่านั้น แต่เป็นสถานการณ์ที่ทั้งระบบการเงินของประเทศเกือบล่มสลาย เนื่องจากการกู้เงินตราต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ไทยในวันนั้นใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ และดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ทำให้ต้นทุนของเงินต่างประเทศต่ำกว่าในประเทศ บางส่วนถูกนำไปใช้ในกิจกรรมเก็งกำไร อาทิ ตลาดหุ้น และภาคอสังหาริมทรัพย์ บ่งชี้ถึงการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ

โดยตัวเลขทุนสำรองต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นในปี 2540 อยู่ที่ 70.4% เทียบกับปัจจุบันสูงถึง 380% ขณะที่ค่าเงินบาทก่อนปี 2540 อยู่ที่ระดับ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และต่อมาในปี 2541 หลังลอยตัว เงินบาทอ่อนค่าสุดที่ระดับ 56.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับค่าเงินบาทวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 อยู่ที่ 31.02 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

“นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง สถาบันการเงินรวมถึงผู้ดำเนินนโยบายมีความระมัดระวังมากขึ้น ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพมากกว่าการเติบโตอย่างหวือหวา และระดับการก่อหนี้ของธุรกิจเอกชนสะท้อนการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุมมากขึ้นเช่นกัน”

2 ปัญหาค่าเงินบาท

“ค่าเงินบาท” วันนี้เป็นปัญหาที่กลับด้านจากปี 2540 เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้น กระทบขีดความสามารถการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา โดยในช่วง 4 ปีมานี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 16% ถือเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในโลก จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากการลงทุนในประเทศอยู่ในระดับต่ำ ส่วนกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายแม้ครึ่งแรกของปีนี้นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย แต่ในภาพรวม 4-5 ปีมานี้ ผู้เล่นต่างชาติยังมองว่าระดับทุนสำรองและการเกินดุลยังทำให้เงินบาทมีเสถียรภาพสูงกว่าสกุลเงินตลาดเกิดใหม่แห่งอื่นๆ ขณะที่การผ่อนคลายนโยบายการเงินของสหรัฐฯในระดับที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน กดดันเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอีกทางหนึ่ง

ขณะที่วันนี้ “วิกฤตโควิด-19” ที่ประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เป็นเพราะความเปราะบางเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศอย่างมาก (การท่องเที่ยว และส่งออก) รวมถึงหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นก่อนโควิดกำลังฉุดรั้งกำลังซื้อของกลุ่มคนในภาคธุรกิจบริการอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปี 2541 ติดลบ 7.6% แต่ใช้เวลาไม่นานในการฟื้นตัว เพราะค่าเงินบาทที่อ่อนลงมากช่วยภาคส่งออก แต่เศรษฐกิจไทยถึงแม้จะฟื้นตัวแต่ไม่ได้กลับมาเติบโตในอัตราร้อนแรงอย่างช่วงก่อนต้มยำกุ้ง

สำหรับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจีดีพีปี 2563 หดตัว -8.1% และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์อยู่ที่ติดลบ -7.7% ที่แน่นอนก็คือ “รุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง” เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการส่งออกและท่องเที่ยวในสัดส่วนสูง ขณะที่อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศเวลานี้ฟุบลงพร้อมๆ กันจากมาตรการล็อกดาวน์ ส่วนภาคเกษตรไม่สามารถรองรับการเลิกจ้างของแรงงานในภาคการผลิตและบริการได้เหมือนอย่างช่วงปี 2540-2541 ดังนั้นวิกฤตโควิด-19 จึงอาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง และบางภาคธุรกิจเผชิญผลกระทบถาวรจากการพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป