เงินบาทแกว่งตัวอ่อนค่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนการแพร่ระบาดโควิด-19

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/7) ที่ระดับ 31.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (10/7) ที่ระดับ 31.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลดแรงบวกลงจากการขายทำกำไร หลังดีดตัวขึ้นก่อนหน้านี้สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐนั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวลงร้อยละ 0.2 ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบรายเดือน และปรับตัวลงร้อยละ 0.8 ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบรายปี

ทั้งนี้การปรับตัวลงของ PPI นั้น ได้รับผลกระทบมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้อุปสงค์ในตลาดลดลง ในส่วนของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่สหรัฐนั้นยังคงรุนแรง โดยในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (11-12/7) ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นกว่า 15,000 ราย ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเป็นสถิติใหม่ของสหรัฐ

อย่างไรก็ดี บริษัท Gilead Science ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและวิจัยยาที่สหรัฐได้ออกมาเผยผลของการพัฒนายา Remdesivir หรือยาสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ที่ทางบริษัทกำลังพัฒนาอยู่ว่าผลการทดสอบล่าสุดของตัวยานั้นออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยผลวิจัยนั้นระบุว่า ยา Remdessivir สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ถึงร้อยละ 62 เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน ขณะนี้ ตัวยา Remdesivir ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ ทั้งรัฐบาลของประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และอินเดียได้มีการอนุมัติให้ใช้ตัวยาดังกล่าวกับผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนั้น ถือว่ายังคงอยู่ในกรอบแต่จะเป็นแนวอ่อนค่า โดยนักลงทุนยังคงรอปัจจัยใหม่ ๆ เพื่อหนุนการซื้อขายท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.26-31.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/7) ที่ระดับ 1.1317/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/7) ที่ระดับ 1.1292/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นักลงทุนจับตามองการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป (European Summit) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 17-18 กรกฎาคม 2563

โดยประเด็นสำคัญที่คาดว่าจะต้องถูกยกมาถกในการประชุมคือปัญหาเรื่องงบประมาณระยะยาวและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่สมดุลกัน นายชาร์ลส์ มิเชล (Charle Michel) ประธานคณะรัฐมนตรีสหภาพยุโรป (European Council President) ได้เสนองบประมาณร่วมระหว่างประเทศสมาชิกสำหรับปี พ.ศ. 2564-2570 ที่มีขนาดเล็กลงเพื่อให้ทุกประเทศสามารถบรรลุข้อตกลงได้ ซึ่งนักลงทุนคาดหวังว่าการประชุมดังกล่าวจะได้ข้อสรุปสำหรับประเด็นงบประมาณระยะยาวและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่สมดุลกัน

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1295-1.1336 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1306/10 ดอลลารสหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/7) ที่ระดับ 106.86/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (10/7) ที่ระดับ 106.76/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยตลาดคงจับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.77-107.09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.05/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเดือน พ.ค. สหราชอาณาจักร (14/7), ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมของสหราชอาณาจักร (14/7), ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจเยอรมันโดยสถาบัน ZEW เดือนกรกฎาคม (14/7), ดุลการค้าสหราชอาณาจักร (14/7), ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม ของสหภาพยุโรป (14/7), ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจสหภาพยุโรปโดยสถาบัน ZEW เดือนกรกฎาคม (14/7), ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐ เดือนมิถุนายน (14/7), ดัชนีราคาผู้บริโภคสหราชอาณาจักร เดือนมิถุนายน (15/7), ดัชนีภาคการผลิตเขตรัฐนิวยอร์กสหรัฐ เดือนกรกฎาคม (15/7), ดัชนีราคาสินค้านำเข้า-ส่งออกสหรัฐเดือน มิถุนายน (15/7), การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) (15/7), ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมของสหรัฐ (16/7), อัตราการว่างงานสหราชอาณาจักรเดือนพฤษภาคม (15/7), ดุลการค้าสหภาพยุโรปเดือนพฤษภาคม (16/7), การประชุมธนาคารกลางสหภาพยุโรป (16/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.2/0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.15/+0.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ