ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ผลกระทบเทรดวอร์ 2 ปี ทำสินค้าไทยเสียประโยชน์ 1.1 พันล้านดอลลาร์

แฟ้มภาพ

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเทรดวอร์ยืดเยื้อ “ความตกลงเฟส 2” ไม่เกิด หลังสหรัฐฯ ยุติสิทธิพิเศษกับฮ่องกง ประเมิน 2 ปีที่ผ่านมา สงครามการค้ากระทบสินค้าไทยเสียประโยชน์ 1.1 พันล้านดอลลาร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้นำเสนอบทวิเคราะห์เรื่อง “สหรัฐฯ ยุติสิทธิพิเศษกับฮ่องกง … ชนวนกระตุ้นสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนกลับมาร้อนแรงก่อนการเลือกตั้ง”

โดยมองว่า สถานการณ์ล่าสุดที่สหรัฐฯ ยุติสิทธิพิเศษกับฮ่องกงเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เป็นอีกชนวนกระตุ้นสงครามการค้ากับจีนให้กลับมาร้อนแรงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งในปีนี้สหรัฐฯ ยังคงนำประเด็นอ่อนไหวของจีน มาใช้เป็นเครื่องมือกดดันจีนผ่านความตกลงทางการค้าเฟส 1 (Phase 1) ประกอบกับเงื่อนเวลาการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามายิ่งทำให้ทุกเรื่องผูกโยงกันอย่างซับซ้อน ทำให้สงครามการค้าครั้งนี้คงจะยืดเยื้อและไม่น่าจะเกิดความตกลงในเฟส 2 (Phase 2) ได้ ถึงแม้การเลือกตั้งสหรัฐฯ จะได้บทสรุปเป็นผู้นำคนใหม่ แต่การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในด้านภูมิรัฐศาสตร์จะคงมีอยู่ต่อไป และคงไม่ทำให้สงครามการค้าสงบได้อย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินได้ว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่สงครามการค้าปะทุขึ้นทำให้การค้าของไทยในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องเสียประโยชน์สุทธิ 1.1 พันล้านดอลลาร์ฯ แม้ว่าสินค้าไทยส่วนหนึ่งจะได้อานิสงส์จากการส่งไปแทนที่สินค้าของคู่กรณีทั้งทางตรงและทางอ้อมแต่ก็ไม่มากพอที่จะชดเชยผลกระทบหลัก ๆ ที่ทำให้การส่งออกสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่ของจีนปรับตัวลดลง รวมกับการที่ไทยต้องสูญเสียพื้นที่ตลาดในประเทศเพื่อนบ้านไปจากการเข้ามาของสินค้าจีน

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2563 นี้ผลพวงที่มาจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นจะเริ่มเบาบางลงนับตั้งแต่เกิดความตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนในเฟส 1 แต่หากสหรัฐฯ ยังคงใช้ฮ่องกงมาเป็นประเด็นใหม่เปิดเกมเดินหน้ากดดันทำสงครามการค้ากับจีนต่อไปคงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทยมากขึ้นอีก จากปัจจุบันที่การส่งออกของไทยก็ได้รับผลกระทบหลักๆ มาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งมีความเสี่ยงจะเกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 ในช่วงฤดูหนาว ยิ่งกดดันการค้าโลกมากขึ้น

ด้วยสาเหตุเหล่านี้คาดว่าการส่งออกของไทยปี 2563 ไปตลาดสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ (-) 2.7 มีมูลค่าการส่งออกราว 30,500 ล้านดอลลาร์ฯ (กรอบประมาณการที่หดตัวร้อยละ (-) 4.9 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.0 ที่มูลค่าการส่งออก 29,800-31,600 ล้านดอลลาร์ฯ) และการส่งออกไปจีนน่าจะฟื้นตัวได้ก่อนตลาดอื่นๆ แต่กำลังการผลิตยังไม่กลับมาเต็มที่จึงขยายตัวอย่างจำกัดที่ร้อยละ 3.2 มีมูลค่าการส่งออก 30,100 ล้านดอลลาร์ฯ (กรอบประมาณการที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ถึงขยายตัวร้อยละ 4.2 มีมูลค่าการส่งออก 29,700-30,400 ล้านดอลลาร์ฯ)

โดยสรุป ในระยะปานกลางคงต้องจับตาความเสี่ยงของสงครามการค้าที่พร้อมจะเปลี่ยนภาพได้ตลอดเวลา เพราะสหรัฐฯ ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อกรเศรษฐกิจกับจีน เพื่อช่วงชิงการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลกในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี หรือแม้แต่การช่วงชิงความโดดเด่นในด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็กลายเป็นเรื่องที่ถูกสหรัฐฯ หยิบมาใช้เป็นโจมตีจีนอยู่บ่อยครั้ง อย่างกรณีฮ่องกงก็เป็นประจักษ์พยานที่สหรัฐฯ พยายามจะนำเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับสงครามการค้ามาผูกโยงให้การแก้ปมสงครามการค้ายุ่งยากเข้าไปอีก ยิ่งทำให้ความตกลงทางการค้าเฟส 1 (Phase 1) ที่แทบจะไม่คืบหน้าจากผลพวงของเศรษฐกิจทั่วโลกที่อ่อนไหวในขณะนี้  ดังนั้นการเดินหน้าไปสู่ความตกลงในเฟส 2 (Phase 2) คงไม่เกิดขึ้น และสงครามการค้าครั้งนี้คงจะยืดเยื้อต่อไป

สำหรับในระยะต่อไป คงต้องติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ แม้ว่าผลที่ออกมาจะทำให้ผู้นำสหรัฐฯ เปลี่ยน แต่คงไม่เปลี่ยนท่าทีของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะต้องยอมรับว่าในเวลานี้จีนคือคู่แข่งที่สำคัญของสหรัฐฯ ที่พร้อมจะก้าวแซงสหรัฐฯ ได้ตลอดเวลา อีกทั้งปมความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มีความเสี่ยงทำให้เกิดการแตกแยกทางเศรษฐกิจของสองขั้วอำนาจ ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจและการลงทุนของทั้งสหรัฐฯ และจีน ทั้งยังเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาคก็คงต้องเตีรยมรับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เพียงด้านการค้าระหว่างประเทศเท่านั้น แต่อาจส่งผลให้เกิดการปรับฐานการผลิตและการลงทุนครั้งสำคัญของภูมิภาคที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด