“โควิด” ฉุดรายได้รัฐวิกฤต 8 เดือนกรมภาษีวืดเป้า 2 แสนล้าน

“โควิด-19” แผลงฤทธิ์ 3 กรมภาษี “วิกฤต” เก็บรายได้ต่ำเป้าทะลุ2 แสนล้านบาท “สรรพากร” วูบ 1.39 แสนล้านบาท “สรรพสามิต” หาย 7 หมื่นล้านบาท ส่วน “ศุลกากร” หลุดเป้า 8.5 พันล้านบาท หวั่นไวรัสลากยาวปีหน้าสถานการณ์หนักขึ้นไปอีก

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 2562-พ.ค. 2563) กรมภาษี 3 กรมเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการไปถึง 2.18 แสนล้านบาท หรือต่ำเป้า 12.6% โดยกรมสรรพากรเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าไป 1.39 แสนล้านบาท หรือต่ำเป้า 11.4% ขณะที่กรมสรรพสามิตเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าถึง 16.4% หรือหายไปราว 7 หมื่นล้านบาท ส่วนกรมศุลกากรก็เก็บต่ำกว่าเป้า 11.7% หรือต่ำเป้าไป 8,516 ล้านบาท ด้านรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าเป้า 4,747 ล้านบาท หรือสูงกว่าเป้า 3.3% และหน่วยงานอื่นนำส่งรายได้สูงกว่าเป้ากว่า 1.19 หมื่นล้านบาท หรือสูงกว่าเป้า 10.1%

“ส่งผลให้ในภาพรวมรัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.5 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการไป 1.86 แสนล้านบาท หรือต่ำเป้า 11% ซึ่งภาพรวมทั้งปีงบประมาณ น่าจะเก็บรายได้ต่ำเป้าหลายแสนล้านบาท เฉพาะกรมสรรพสามิตกรมเดียวก็ประเมินว่าจะต่ำเป้าราว 1.3 แสนล้านบาท ส่วนกรมสรรพากรน่าจะมากกว่านั้น ด้านกรมศุลกากรก็หายไปค่อนข้างมาก โดยหากไวรัสยังไม่จบ เศรษฐกิจไม่ฟื้น ปีงบประมาณหน้าจะกระทบหนักกว่านี้ เพราะบริษัทต่าง ๆ มีกำไรลดลง รวมถึงรัฐวิสาหกิจด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่

1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จัดเก็บต่ำกว่าประมาณการสูงถึงกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท หรือต่ำเป้าไป 13.2% เนื่องจาก VAT นำเข้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าที่หดตัวต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลง ขณะที่ VAT จากการบริโภคในประเทศหดตัวต่อเนื่อง จากที่มีการขยายเวลาชำระภาษี

2. ภาษีนิติบุคล จัดเก็บต่ำกว่าประมาณการกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท หรือต่ำเป้าไป 17.5% เนื่องจากการขยายเวลาชำระภาษี

3. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บต่ำกว่าประมาณการไป 1.9 หมื่นล้านบาท หรือต่ำเป้า 7.9% จากการขยายเวลาชำระภาษี เพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด-19

4. ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ จัดเก็บต่ำกว่าประมาณการกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท หรือต่ำเป้า 32.3% เนื่องจากยอดขายรถยนต์ที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและโควิด-19

5. ภาษีน้ำมัน จัดเก็บต่ำกว่าประมาณการกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท หรือต่ำเป้า 14.8% เนื่องจากมีการขยายเวลาชำระภาษี

6. ภาษียาสูบ จัดเก็บต่ำกว่าประมาณการ 8,623 ล้านบาท หรือต่ำเป้า 16.8%

7. ภาษีเบียร์ จัดเก็บต่ำกว่าประมาณการไป 5,791 ล้านบาท หรือต่ำเป้า 9.8%

“เฉพาะในเดือน พ.ค. 2563 รัฐบาลก็เก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการไปแล้ว 1 แสนล้านบาท หรือต่ำเป้า 33.7% ซึ่งมาจากกรมสรรพากรเก็บต่ำเป้าไป 6.6 หมื่นล้านบาท กรมสรรพสามิตเก็บต่ำเป้าไป 2.8 หมื่นล้านบาท และรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ต่ำเป้าไป 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มูลค่าการนำเข้าที่ลดลง ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลง และการขยายเวลายื่นแบบและชำระภาษีต่าง ๆ รวมถึงรัฐวิสาหกิจบางแห่งนำส่งรายได้ล่วงหน้าไปแล้วในเดือนก่อนหน้า” แหล่งข่าวกล่าว

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในเดือน มิ.ย. 2563 สคร.จัดเก็บเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% จำนวน 7,191 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่งผลให้มีเงินนำส่งรายได้แผ่นดินสะสม ในช่วง 9 เดือน (ต.ค. 2562-30 มิ.ย. 2563) จำนวน 156,474 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายสะสม 7,012 ล้านบาท หรือคิดเป็น 83% ของเป้าหมายทั้งปีงบประมาณ 2563 จำนวน 188,800 ล้านบาท

“อย่างไรก็ดี สคร.ยังต้องมีการเฝ้าระวังการจัดเก็บรายได้รัฐวิสาหกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2563 เนื่องจากผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19” นายประภาศกล่าว

ด้านนายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2563 นี้ กรมมั่นใจว่าจะสามารถนำส่งรายได้เข้าแผ่นดินได้ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 8,500 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับปรุงระบบการเช่าที่ราชพัสดุใหม่