ธปท.ปรับเกณฑ์ดำรงเงินฝาก ตั้งรับกฎหมายระบบชำระเงิน

ธปท.แก้เกณฑ์ให้แบงก์แยกบัญชี “เงินรับล่วงหน้า-เงินฝากปกติ” ตั้งรับกฎหมายระบบชำระเงิน แบงก์ชี้ช่วยลดภาระดำรงสภาพคล่อง 1%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศเรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงเงินฝากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (Reserve Requirement) ฉบับที่ 2 เพื่อรองรับหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ “เงินรับล่วงหน้า” ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน พร้อมยกเลิกคำจำกัดความ “เงินฝาก” และ “เงินสดที่ศูนย์เงินสด” และแก้ไขให้ “เงินฝาก” หมายถึง เงินฝากกระแสรายวันของธนาคารพาณิชย์ที่ ธปท. โดยไม่ให้นับรวมเงินรับล่วงหน้าที่ธนาคารพาณิชย์แยกไว้เพื่อเก็บรักษาเป็นเงินรับล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน เช่นเดียวกับ “เงินสดที่ศูนย์เงินสด”

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากหลักเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของ ธปท.ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ เงินรับล่วงหน้าเหล่านี้จะถูกนับรวมเข้ากับเงินฝากของธนาคาร ซึ่งธนาคารจะดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่า 1% ของค่าเฉลี่ยฐานเงินฝากและหนี้สินต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งจะเป็นภาระของสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการรับชำระเงินเพิ่ม

“ตัวอย่างเช่น การรับชำระค่าโทรศัพท์ของลูกค้า ซึ่งแบงก์จะได้เงินรับล่วงหน้ามากองไว้ เนื่องจากเงินรับล่วงหน้านี้จะต้องนำไปเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ หรือศูนย์เงินสด ซึ่งเงินรับล่วงหน้าเหล่านี้อยู่ไม่นาน จะต้องถูกจ่ายต่อไปยังผู้ให้บริการค่ายโทรศัพท์ แต่ระหว่างนั้นก็จะถูกคำนวณเข้าไปอยู่ตามหลักเกณฑ์ reserve requirement ที่ 1% อาทิ ธนาคารมีเงินฝาก 100 บาท มีเงินรับล่วงหน้า 50 บาท ซึ่งหากตามเกณฑ์เก่าจะคำนวณบน 150 บาท แต่เกณฑ์ใหม่นี้จะคำนวณบน 100 บาท โดยแยกเงินรับล่วงหน้าออกจากบัญชีเงินฝากปกติ ถือเป็นผลดีต่อการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของแบงก์” แหล่งข่าวกล่าว