เฮ! 5 แบงก์เปิดบัญชีเงินฝากด้วยใบหน้าสำเร็จ

ธปท.ไฟเขียว 5 แบงก์ตบเท้าออกแซนด์บ็อกซ์ ลุยเปิดบัญชีเงินฝากด้วยเทคโนโลยีจดจำใบหน้าสำเร็จ จากทดสอบทั้งหมด 14 ราย เดินหน้าดึงหน่วยงานบล.-บลจ.-ประกันร่วมทดสอบ ส.ค.นี้ พร้อมออกหลักเกณฑ์ ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ให้บริการทางการเงิน

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตอนนี้มี 5 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย กรุงเทพ กรุงศรีอยุธยา ทหารไทย และซีไอเอ็มบี ไทย ได้ออกจากศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (Sandbox) ภายหลังจากธปท.ได้เปิดทดสอบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามธนาคาร บนแพลตฟอร์ม NDID (National Digital ID) เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากผ่านหลักเกณฑ์การรู้จักลูกค้า (Know You Customer : KYC) ด้วยเทคโนโลยีชีวมิติ (Biometrics) ในการให้บริการทางการเงิน โดยใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ในการเปรียบเทียบใบหน้า (Facial recognition) เพื่อให้บริการเป็นวงกว้าง

ทั้งนี้ มีธนาคารและผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) เข้าทดสอบในแซนด์บ็อกซ์จำนวนทั้งสิ้น 14 ราย เป็นธนาคาร 10 ราย และน็อนแบงก์ 4 ราย และภายในเร็วๆ นี้จะมี 3 รายที่กำลังออกจากแซนด์บ็อกซ์ โดยปัจจุบันมีจำนวนการเปิดบัญชีเงินฝากอยู่ที่ 5.4 ล้านบัญชี

ขณะเดียวกัน ภายในเดือนสิงหาคมนี้ จะเริ่มขยายวงในการทดสอบโดยให้บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) รวมถึงประกันเข้ามาร่วมทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ในการเปิดบัญชีหลักทรัพย์ในระยะถัดต่อจากนี้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในเบื้องต้นธปท.จะเริ่มจากการให้บริการเปิดบัญชีเงินฝาก แต่หากธนาคารและน็อนแบงก์ต้องการให้บริการทางด้านอื่นๆ เช่น การให้สินเชื่อ ธนาคารก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องเข้าทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ใหม่ แต่ต้องเข้ามาพูดคุยกับธปท.ในเรื่องของกระบวนการต่างๆ อาทิ การวิเคราะห์สินเชื่อ สกอริ่ง แหล่งที่มารายได้ และการดูเรื่องการประกัน เป็นต้น

“จากการทดสอบเราจะดูความแม่นยำของการยืนยันตัวตน ซึ่งในการทดสอบประมาณ 99.50% สามารถยืนยันได้แม่นยำ และอีก 0.50% อาจจะมีเรื่องของแสงของภาพอาจมืดไป หรือใบหน้าที่อาจมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้น ธปท.จึงอยากให้ประชาชนไปอัพเดตข้อมูลกับธนาคารให้เป็นปัจจุบันที่สุด เพื่อจะได้รับบริการที่สะดวกยิ่งขึ้น”

นางสาวสิริธิดา กล่าวเพิ่มเติม ธปท. ได้ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ในการให้บริการทางการเงินเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่นำ Biometrics มาใช้ในการให้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีการเปรียบเทียบใบหน้า (Facial recognition) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักที่มีการใช้งานในภาคการเงินในปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ใช้บริการมั่นใจว่าการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดังกล่าวมีความมั่นคงปลอดภัย สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยยกระดับการให้บริการทางการเงิน และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการ

แนวปฏิบัติดังกล่าวครอบคลุมหลักการที่ผู้ให้บริการทางการเงินพึงปฏิบัติ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ 2) การรวบรวมข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย 3) การประมวลผลข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างแม่นยำ 4) การรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้บริการอย่างเข้มงวดและรัดกุม ตามมาตรฐานสากล 5) การคุ้มครองผู้ใช้บริการและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวมิติอย่างเหมาะสมเพียงพอ และ 6) การควบคุมความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและรองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผู้ให้บริการทางการเงินที่ประสงค์จะนำ Biometrics ไปใช้ให้บริการทางการเงินจำเป็นต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติดังกล่าวและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมีการทดสอบการใช้ Biometrics เพื่อเปรียบเทียบภาพกับแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ (Trusted Source) ภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท. ก่อนนำมาใช้จริง

ทั้งนี้ หากผู้ให้บริการมีความประสงค์จะประยุกต์ใช้กับธุรกรรมทางการเงินประเภทอื่นๆ จะต้องมีการหารือกับ ธปท. ก่อนเปิดใช้บริการเพื่อความปลอดภัย