“วิทัย” พลิกเกมออมสิน ชูบทบาท “โซเชียลแบงก์” เต็มตัว

วิทัย รัตนากร

“เราจะปรับตัวเป็น social bank เป็นธนาคารเพื่อสังคมเต็มรูปแบบ เพื่อช่วยคนจน ชุมชน และฐานราก รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศ และมุ่งหวังที่จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มองเห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงมาก เราจะช่วยแก้ไข และเข้าไปช่วยเหลือประชาชนส่วนนี้” นี่เป็นคำกล่าวของ “วิทัย รัตนากร” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คนที่ 17 ที่เพิ่งแถลงเปิดตัวเมื่อเร็ว ๆ นี้ นับจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 1 ก.ค. 2563

ปักหมุดฐานราก 12.8 ล้านคน

โดย “วิทัย” ฉายภาพการเป็นโซเชียลแบงก์ว่า ธนาคารจะมุ่งดูแลลูกค้าและประชาชน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย (พ่อค้าแม่ค้า) และองค์กรชุมชน เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ หลุดพ้นจากความยากจน ยกระดับรายได้ ต่อยอดเป็นผู้ประกอบการรายย่อย สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งธนาคารมีความเชี่ยวชาญ จากประสบการณ์ดูแลกลุ่มลูกค้านี้อย่างใกล้ชิดมานาน

“ปัจจุบันออมสินมีฐานลูกค้าฐานราก 12.8 ล้านคน หรือ 61.6% ของลูกค้าทั้งหมด ซึ่งเราจะปรับภารกิจและกระบวนการทุกด้านของธนาคารให้สอดคล้องกับการเป็นโซเชียลแบงก์ เพื่อมุ่งให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ในขณะที่การทำภารกิจเชิงพาณิชย์ จะเป็นกิจการรอง เพื่อสร้างกำไรที่จะนำมาอุดหนุนภารกิจด้านสังคม”

ฟูมฟักปั้นธุรกิจรายย่อย

นอกจากนี้ ออมสินปักธงเป็นหน่วยงานรัฐแห่งแรกที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างครบวงจร โดยจะจัดตั้งศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย มุ่งเป้าช่วยเหลือประชาชนในการสร้างธุรกิจ โดยรวบรวมองค์ความรู้ในทุกด้านที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพและการทำธุรกิจ อาทิ กลุ่ม street food, กลุ่ม homestay เป็นต้น เริ่มจากการพัฒนาผู้ประกอบการ ออกแบบผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม คัดเลือกลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย วางกลยุทธ์การตลาดและสร้างช่องทางการขาย/หาลูกค้า ไปจนถึงการให้สินเชื่อและร่วมทุน

ติดอาวุธดิจิทัลแบงกิ้ง

“วิทัย” บอกชัดเจนว่า จะใช้ดิจิทัลแบงกิ้งเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโซเชียลแบงก์ให้ประสบความสำเร็จ โดยจะปรับดิจิทัลแบงกิ้งมาสนับสนุนงานของสาขา ซึ่งจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนต้องปรับตัวสู่ชีวิตวิถีใหม่ (new normal) ออมสินจึงเตรียมพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ บนแอปพลิเคชั่น MyMo เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บริการต่าง ๆ ได้มากขึ้น อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ สินเชื่อแบบที่ไม่มีหลักประกันที่เป็น digital lending, เปิดบัญชีเงินฝากออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งจะเริ่มให้บริการได้ภายใน 6 เดือนนับจากนี้ไป

“อย่างลูกค้าจะขอพักชำระหนี้ ก็ทำได้ผ่าน MyMo ซึ่งออมสินจะขยายเวลาพักชำระหนี้ให้กับลูกค้าไปจนถึงเดือน ธ.ค. โดยลูกค้าจะสามารถเลือกได้ว่า จะขอพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือจะเลือกพักชำระเฉพาะเงินต้นหรือดอกเบี้ย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเราดูแลลูกค้าให้ได้รับการพักหนี้กว่า 3.1 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท”

กดดอกเบี้ยน็อนแบงก์

นอกจากนี้ ออมสินจะเข้าไปมีบทบาทในการช่วยบรรเทาภาระลูกหนี้กลุ่มผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ทั้งสินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยมีเป้าหมายลดดอกเบี้ย 8-10% จากปัจจุบันที่น็อนแบงก์จะคิดดอกเบี้ยอยู่ที่ 24-28% ซึ่งเรื่องนี้จะทำให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และเริ่มได้ในปีหน้า

แก้หนี้ข้าราชการใน 6 เดือน

“วิทัย” กล่าวอีกว่า แบงก์ยังคงให้ความสำคัญกับการแก้หนี้ข้าราชการ ซึ่งปัจจุบันมีสินเชื่อบุคลากรภาครัฐคงค้างที่ 577,900 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 1.11 ล้านราย ประกอบด้วย บุคลากรทางการศึกษา 62% ข้าราชการทั่วไป 30% ตำรวจ 5% และทหาร 3% ซึ่งตนมีแนวทางเข้าไปช่วยแก้ไขหนี้ โดยจะใช้แหล่งเงินอื่นในการชำระหนี้ และมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลและต้นสังกัดของข้าราชการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายใน 6 เดือนเช่นกัน

ปีนี้กำไรเหลือ 1.3 หมื่นล้าน บ.

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2563 นี้ “วิทัย” ยอมรับว่า กำไรสุทธิของแบงก์จะลดลงมาอยู่ที่ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่มีกำไร 2.42 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากธนาคารได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงที่ผ่านมา

“คาดว่ากำไรปีนี้จะลดลงมา เพราะเราได้เข้าแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจตอนนี้ และลดดอกเบี้ยลงมา เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผ่านสินเชื่อฉุกเฉินรายละไม่เกิน 1 หมื่นบาท และผู้มีรายได้ประจำ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท ถือว่าเป็นสิ่งที่ธนาคารออมสินคืนกำไรแก่สังคม และเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในยามที่ประชาชนได้รับผลกระทบ”

พร้อมรับมือหนี้เสียพุ่ง

ส่วนสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ขณะนี้ยังไม่เพิ่มขึ้น แต่ออมสินก็มีการตั้งสำรองเพิ่ม โดยช่วงต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ได้สำรองเพิ่มขึ้นหลักพันล้านบาท อย่างไรก็ดี สุดท้ายจะต้องรอดูตัวเลขปลายปีนี้อีกที แต่เชื่อว่าในปี 2564 หนี้เสียจะเพิ่มขึ้นไม่ถึง 10% แน่นอน

“ออมสินยังเป็นแบงก์ที่แข็งแรง มีสภาพคล่องเกินแสนล้านบาท และสามารถช่วยสนับสนุนนโยบายรัฐ ออกโครงการใหม่ ๆ ไปช่วยฐานราก ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทั้งปีนี้และปีหน้า”

ทั้งหมดที่ผู้อำนวยการออมสินคนใหม่พูดไว้จะทำได้เป็นรูปธรรมแค่ไหนคงต้องติดตามกันต่อไป