ธปท. เผยดัชนีความเชื่อมั่น ก.ค. ดีขึ้น 3 เดือนติด ชี้กลุ่มยานยนต์รับอานิสงส์ Motor Show

ธปท.เปิดรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนกรกฎาคม 2563 ปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 เดือน จากเดือนมิ.ย. 63 อยู่ที่ 38.5 มาอยู่ที่ระดับ 42.9 เผยปรับดีขึ้นในเกือบทุกธุรกิจ ชี้กลุ่มมผู้ผลิตยานยนต์รับอานิสงส์ยอดขาย Motor Show ส่วนดัชนีฯ 3 เดือนข้างหน้า กลุ่มโรงแรม-อาหาร ยังต่ำกว่า 50 สะท้อนความกังวลรายได้ต่างชาติยังไม่กลับมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนกรกฎาคม 2563 พบว่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ 42.9 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกธุรกิจ ยกเว้นกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ดัชนีฯ ลดลง หลังจากปรับดีขึ้นมากในเดือนก่อน โดยดัชนีฯ ของภาคการผลิตปรับเพิ่มขึ้นจากกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์และกลุ่มผลิตยานยนต์เป็นสำคัญ คาดว่าส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในงาน Motor show

ขณะที่ดัชนีฯ ของภาคที่มิใช่การผลิตปรับดีขึ้น นำโดยกลุ่มขนส่งและภาคก่อสร้างที่มีความเชื่อมั่นดีขึ้นในทุกองค์ประกอบ อย่างไรก็ตาม ดัชนีรวมและดัชนีย่อยยังคงต่ำกว่า 50 ในทุกภาคธุรกิจ สะท้อนว่าแม้ความเชื่อมั่นมีสัญญาณปรับดีขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำโดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังกังวลต่อภาวะธุรกิจที่เปราะบาง จากทั้งกำลังซื้อที่ซบเซาและความเสี่ยงของการระบาดระลอกสองที่สูงขึ้น

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 48.6 ซึ่งปรับดีขึ้นในเกือบทุกภาคธุรกิจ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของกลุ่มผลิตยานยนต์ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีฯ ที่อยู่เหนือระดับ 50 ได้เป็นเดือนที่สอง ส่วนหนึ่งเป็นผลดีจากการจัดงาน Motor show ที่จะช่วยกระตุ้นคำสั่งซื้อในระยะข้างหน้าได้บ้าง เช่นเดียวกับกลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร รวมถึงกลุ่มขนส่ง ที่ดัชนีฯ ปรับดีขึ้นมากจากทุกองค์ประกอบ เป็นผลจากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ของกลุ่มโรงแรมและร้านอาหารยังต่ำกว่า 50 สะท้อนว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงคาดว่าภาวะธุรกิจจะไม่ดีนักจากปัจจุบัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศไม่สามารถชดเชยรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นด้านอื่นๆ เช่น ด้านสภาพคล่องทั้งปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่ยังอยู่ต่ำกว่า 50 สะท้อนว่าธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงมีสภาพคล่องลดลง ส่วนหนึ่งจากการที่ไม่ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพียงพอตามต้องการ แม้สถานการณ์ COVID-19 มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ธุรกิจมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จากความเสี่ยงของการแพร่ระบาดระลอกสองที่สูงขึ้นและมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่สิ้นสุดลงบางส่วน สำหรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอีก 12 เดือนข้างหน้าทรงตัวเท่าเดือนก่อนที่ 1.4%