แนวโน้ม “ค่าเงินบาท” แข็งค่าข้ามปี ธปท. เตือนผันผวน-ดอลลาร์อ่อน

ค่าเงินบาท ธนบัตร
ภาพ: LILLIAN SUWANRUMPHA/AFP

ค่าเงินบาทครึ่งปีหลังส่อกลับมา “แข็งค่า” ลากยาวข้ามปี เอฟเฟ็กต์ดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่ารุนแรง-ส่งออกเริ่มฟื้น “กรุงไทย” คาดจบปีนี้ที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนปีหน้าแตะ 29.50 บาท ชี้ปรับ ครม.กระทบแค่ระยะสั้น “บล.ไทยพาณิชย์” มองสิ้นปีนี้ 30.80 บาทต่อดอลลาร์ เชื่อครึ่งปีหลังไร้นโยบายกระตุ้นแพ็กเกจใหญ่ ส่วนคลังมองเฉลี่ยทั้งปี 31.7 บาท ด้านแบงก์ชาติระบุครึ่งปีหลังค่าเงินผันผวนจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มค่าเงินบาทสิ้นปี 2563 จะแข็งค่าในระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ และคาดว่าจะเห็นการแข็งค่าต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 ที่ระดับ 29.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีปัจจัยมาจากภาคการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และอาหาร ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ การปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลายตำแหน่ง ก็อาจมีผลต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ แต่ก็เพียงชั่วคราวเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่เงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่า เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะช้ากว่าประเทศอื่น ตลอดจนนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่พยายามผ่อนคลายมากที่สุด โดยเห็นการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับ 0% ไปอีกยาวเพื่อพยุงเศรษฐกิจและนโยบายการคลังที่ทำงบประมาณขาดดุลมากขึ้น ส่งผลต่อมุมมองเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เพราะคนไม่อยากถือเงินดอลลาร์

“เรามองเงินบาทแข็งค่าในปีนี้และปีหน้า แต่ระหว่างทางอาจมีความผันผวนให้บาทอ่อนได้บ้าง แต่คงไม่เห็นหลุด 32 บาท น่าจะเคลื่อนไหวอยู่แถว ๆ 31.75 บาทได้ โดยความเสี่ยงบาทอ่อนค่า จะอยู่ในช่วงปลายไตรมาส 3 ก่อนมีการเลือกตั้งสหรัฐ ซึ่งเป็นความเสี่ยงทางการเมืองและการกระทบกระทั่งระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งอาจทำให้มีการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดเกิดใหม่ หันไปถือครองดอลลาร์แทนได้ หรือโควิดระบาดรอบ 2 แต่ไทยมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากแค่ 6-10% เท่านั้น” นายพูนกล่าว

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทช่วงสิ้นปี 2563 น่าจะอยู่ที่ 30.80 บาทต่อดอลลาร์ โดยช่วงครึ่งปีหลังยังมีจุดเด่นที่ราคาน้ำมันยังต่ำต่อเนื่อง ซึ่งยังจะมีการเกินดุลการค้าอยู่ และจะยังเห็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้ จึงทำให้ค่าเงินบาทไม่อ่อนค่าแรง

ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะเปราะบางกว่าครึ่งปีแรก แม้จะเปลี่ยน ครม. แต่ก็เชื่อว่า ยากที่จะมีนโยบายขนาดใหญ่ ๆ ออกมาอีก ส่วนนโยบายการเงิน โอกาสในการลดดอกเบี้ยก็ค่อนข้างยากแล้ว นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งปีหลังก็มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง

“ครึ่งปีหลังจะเห็นเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะหากสามารถเปิดประเทศได้เร็ว นอกจากมีโควิด-19 ระบาดซ้ำอีก ก็อาจจะกลับไปอ่อนค่าเหมือนตอนเกิดเหตุการณ์ที่จังหวัดระยอง คือ เงินบาทอ่อนค่าไปแถว ๆ 32 บาท แต่ไม่เกินนั้น” นายจิติพลกล่าว

ฟากรายงานจากธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ห้องค้ากสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงสิ้นปี 2563 หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าไปแตะ 31.50-32 บาท ตามที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ โดยแรงกดดันมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ประกอบกับปัจจัยนโยบายการเงินและโครงสร้างดุลชำระเงินของไทย จะสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาท โดยคาดว่าการอ่อนค่าอย่างรุนแรงของเงินดอลลาร์ จะกดดันให้เงินบาทมีแนวโน้มทยอยแข็งค่า สอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นในช่วงที่เหลือของปี

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 31.58 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง 1.7% จากค่าเฉลี่ยปีที่แล้ว ซึ่งช่วงระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ค. เงินบาทก็ปรับตัวอ่อนค่าลง และเริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาอีกครั้งในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ

“ช่วงที่เหลือของปี เงินบาทน่าจะทรงตัวและทั้งปี 2563 ค่าเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 31.7 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปี 2562 เฉลี่ยทั้งปีเงินบาทจะอ่อนค่าลง” นายวุฒิพงศ์กล่าว

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทครึ่งปีหลังนี้ ยังคงมีความผันผวนซึ่งยังคงต้องติดตามประเด็นการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จะกลับมารอบ 2หรือไม่ รวมถึงปัจจัยเศรษฐกิจในต่างประเทศด้วย เพราะจะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทจะขึ้นอยู่กับปัจจัยคาดการณ์ ซึ่งควบคุมไม่ได้

คาดการณ์ แนวโน้ม ค่าเงินบาท 2563