ดอลลาร์สหรัฐทรงตัว นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 5 ตุลาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.34/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (4/10) ที่ระดับ 33.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) พบว่า ดัชนีภาคบริการของ ISM ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 59.8 ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2005 หลังจากอยู่ที่ระดับ 55.3 ในเดือนสิงหาคม ในขณะที่ออโตเมติกดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 135,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 228,000 ตำแหน่งในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้การจ้างงานที่ลดลงในเดือนกันยายนได้รับผลกระทบจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีย์ และเออร์มา ในส่วนของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ทางไอเอชเอส มาร์กิตเปิดเผยว่า ได้ชะลอตัวลงสู่ระดับ 54.8 ในเดือนกันยายน จากระดับ 55.3 ในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (4/9) ได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม ที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี โดยระบุว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การดำเนินงานของเฟดมีเป้าหมายที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่า กฎระเบียบที่เฟดนำมาใช้ในภาคธนาคารนั้น มีความเหมาะสมกับขนาด ความซับซ้อน และบทบาทของธนาคารพาณิชย์ที่เฟดกำกับดูแลอยู่ และเชื่อว่ากฎระเบียบเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ภาคธนาคารแบกรับภาระมากเกินไป ทั้งนี้ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้ นางเจเน็ต เยลเลน ไม่ได้กล่าวถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด และไม่ได้แสดงความคิดเห็นใด ๆ เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ

ในส่วนของความเคลื่อนไหวภายในประเทศ นางแพตริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ชี้แจงว่า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มยังคงจัดเก็บในอัตรา 7% ตามเดิมต่อไป จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้กับภาคเอกชน อันจะส่งผลทำให้ภาพรวมของการบริโภคและการลงทุนของประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมั่นคงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.33-33.41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (5/10) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1754/56 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ใกล้เคียงจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (4/10) ที่ระดับ 1.1757/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซน อยู่ที่ระดับ 56.7 ในเดือนกันยายน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคมที่ระดับ 55.7 และยังทำสถิติสูงสุดในรอบ 4 เดือน ทั้งนี้รายงานระบุว่ากิจกรรมภาคธุรกิจยูโรโซนได้รับปัจจัยหนุนจากการเพิ่มขึ้นของยอดคำสั่งซื้อใหม่ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1748-1.1779 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1764/66 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (5/10) เปิดตลาดที่ระดับ 112.76/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (4/10) ที่ระดับ 112.55/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 112.56-112.84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 112.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดุลการค้าสหรัฐ ประจำเดือนสิงหาคม (5/9) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (5/9) ดุลการค้าฝรั่งเศส ประจำเดือนสิงหาคม (6/9) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐ ประจำเดือนกันยายน (6/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.8/-0.65 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.5/+1.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ