ธปท.มัดรวมหนี้ธุรกิจ ล็อกแบงก์พาณิชย์สางปม SME

อสังหา-ธปท-หนี้เสีย

ธปท.ผนึกกำลัง “สมาคมแบงก์” เร่งเครื่องแก้ปมหนี้เสีย เผยทุกแบงก์เห็นชอบแนวทาง “รวมเจ้าหนี้” เดินหน้าเจรจาปรับโครงสร้างหนี้นอกศาล อุ้มธุรกิจ “เอสเอ็มอี-รายใหญ่” พ้นบ่วงหนี้เสียหลังจบมาตรการพักหนี้ ต.ค.นี้ หวั่นเอสเอ็มอีที่เข้าโครงการพักหนี้ 1.17 ล้านรายไปต่อไม่ไหว โฟกัสธุรกิจเป็นหนี้ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป มีเจ้าหนี้หลายราย เร่งทำสัญญาแก้หนี้เชิงรุกก่อนเอ็นพีแอลทะลัก จับตาประชุม ศบศ.นัดแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากมาตรการความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินผ่านมาตรการการปรับโครงสร้างหนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 พบว่า มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ หรือพักหนี้รวม 12.82 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 6.88 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของสินเชื่อในระบบทั้งหมด สะท้อนปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ ทำให้มีความเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีมูลหนี้ถึง 2.25 ล้านล้านบาท จำนวน 1.17 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และมีสายป่านไม่มาก มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นหนี้เสียไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ หลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือน ต.ค.นี้

งัดมาตรการ “รวมเจ้าหนี้”

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางสมาคมธนาคารไทยได้มีการประชุมหารือ ธปท. เพื่อเตรียมออกมาตรการที่จะมาดูแลลูกหนี้ธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้เป็นปกติ หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่ง ธปท.จะไม่ต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไป แต่จะเน้นเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ โดยแนวทางที่มีข้อสรุปในเบื้องต้นจะเป็นลักษณะ “การรวมเจ้าหนี้” (multicreditor) เพื่อมาแก้ปัญหาในทิศทางเดียวกัน ก็จะช่วยให้ลูกหนี้ไปต่อได้ เพราะเอสเอ็มอีทุกรายมีหลักประกันอยู่แล้ว

“ผู้ประกอบธุรกิจทั้งเอสเอ็มอีจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีเจ้าหนี้หลายราย และหนี้หลายประเภท ซึ่งถ้าเจ้าหนี้ไม่ร่วมมือกัน การปรับโครงสร้างจึงทำได้ค่อนข้างยาก เพราะเจ้าหนี้บางรายยอม บางรายก็จะไปฟ้องร้อง การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ก็ไม่จบ แบงก์ก็จะยิ่งลำบาก และเสี่ยงที่จะทำให้หนี้เสียเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้สมาชิกสมาคมธนาคารไทยก็เห็นชอบในแนวทางนี้ ซึ่งอาจจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (เอ็มโอยู) ของสถาบันการเงิน คล้ายกับโครงการคลินิกแก้หนี้ของ ธปท.”

ทั้งนี้ จะเน้นแก้ปัญหาลูกหนี้ที่มีมูลหนี้รวมกัน 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยจะหาแนวทางแก้ปัญหาปรับโครงสร้างหนี้ที่เจ้าหนี้ทุกรายตกลงร่วมกัน เช่น ธุรกิจที่ยังมีอนาคตก็จะเน้นการขยายเทอมผ่อนชำระให้นานขึ้น 5 ปี 10 ปี ตามความสามารถของลูกหนี้ รวมถึงปล่อยสภาพคล่องเพิ่ม เป็นต้น โดยที่ทาง ธปท.ก็จะเข้ามาช่วยประสานให้เจ้าหนี้ทุกรายมาตกลงร่วมกัน

ปรับโครงสร้างหนี้นอกศาล

“แนวทางนี้จะคล้าย ๆ กับการแก้ปัญหาหนี้สมัยปี 2540 ตอนยังไม่มีช่องทางการฟื้นฟูกิจการในศาล ก็จะเป็นลักษณะการปรับโครงสร้างหนี้นอกศาล ซึ่งในกรณีลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย แต่โครงสร้างหนี้ไม่ได้ซับซ้อนมาก ก็จะให้เจ้าหนี้ที่มีมูลหนี้มากที่สุด มีหลักประกันมากที่สุด เป็นธนาคารหลัก (main bank) ในแก้ปัญหา มีหน้าที่เรียกเจ้าหนี้ทุกรายประชุมและเซ็นสัญญาทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อหาทางออกในการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม โดยที่ตัวหนี้ไม่ได้ถูกโยกไปไว้ที่ไหน และไม่จำเป็นต้องตั้งกองทุนมารับซื้อหนี้” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับกรณีที่เป็นลูกหนี้รายใหญ่ เช่น วงเงิน 500 ล้านบาทขึ้นไป และมีเจ้าหนี้มากกว่า 5 สถาบันการเงิน รวมถึงมีโครงสร้างหนี้ซับซ้อนมาก แต่สภาพธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ ก็อาจจำเป็นต้องมีการปรับลดมูลหนี้ (hair cut) ซึ่งกรณีนี้เจ้าหนี้ก็จะต้องเฉลี่ยรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งในส่วนนี้อาจจะต้องจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เข้ามาช่วย หรือการจ้างบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) เข้ามาช่วยบริหารจัดการ เป็นต้น

ชี้ไม่เหมือนคลินิกแก้นี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้จะไม่เหมือนคลินิกแก้หนี้ ที่เน้นแก้หนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) แล้ว แต่สำหรับมาตรการแก้หนี้แบบ multicreditor เป็นมาตรการเชิงรุก ลูกหนี้ที่เข้าโครงการไม่จำเป็นต้องเป็นหนี้เอ็นพีแอล เพราะเป้าหมายต้องการป้องกันไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย โดยที่ ธปท.อยากเห็นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการโดยการรวมหนี้ทั้งของกลุ่มเอสเอ็มอีและหนี้ธุรกิจรายใหญ่

โดยคาดว่าจะมีการเปิดตัวโครงการนี้ก่อนที่มาตรการพักหนี้จะสิ้นสุดในเดือน ต.ค. อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางหากมีปัญหาในทางปฏิบัติก็สามารถที่จะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้

ธปท.ประคองคุณภาพหนี้

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า คุณภาพสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 2/2563 ถือว่ายังดีอยู่ จากที่สถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ทำให้เอ็นพีแอลรวมไตรมาส 2 อยู่ที่ 3.09% ยอดเอ็นพีแอลคงค้าง 5.09 แสนล้านบาท เพิ่มเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 3.04% ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจรายใหญ่มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจากกรณีสายการบินขนาดใหญ่ที่เกิดปัญหา แต่เอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีลดลงจากมาตรการภาครัฐ รวมถึงการตัดขายหนี้ของแบงก์

“ช่วงที่ผ่านมามีมาตรการความช่วยเหลือออกไปค่อนข้างมาก ทั้งมาตรการการคลัง มาตรการการเงิน ซึ่งเข้าไปก่อนที่สินเชื่อจะเสื่อมคุณภาพ” นายธาริฑธิ์กล่าว

นายธาริฑธิ์กล่าวด้วยว่า ก่อนเกิดโควิด-19 ธนาคารพาณิชย์จะมีลูกหนี้ดีในพอร์ตประมาณ 90% ซึ่ง ธปท.มองว่า มีกลุ่มที่ยังมีศักยภาพที่ดี หลังโควิดคลี่คลายจึงจำเป็นที่ทางการและสถาบันการเงินต้องให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง ซึ่ง ธปท.เห็นว่าการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะการให้สภาพคล่องเพิ่มเติม ยังเป็นสิ่งสำคัญที่แบงก์ต้องทำต่อเนื่อง ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพื่อรักษาลูกหนี้ดีให้มีสัดส่วนอยู่ในระดับสูงได้ต่อไป

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี)กล่าวว่าในไตรมาส 3-4 จะเห็นการตั้งสำรองของทีเอ็มบีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อรองรับความเสี่ยงจากหนี้ด้อยคุณภาพ จากปัจจุบันอยู่ 114% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ที่อยู่ 106% โดยเอ็นพีแอลของแบงก์ในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 2.34% ปรับลดลงจากไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 2.76% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการตัดขายหนี้เสีย

มาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจก๊อกใหม่

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ได้มอบนโยบายให้กับศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ดูแลเศรษฐกิจผ่าน 5 แนวทาง ได้แก่ 1) การดูแลเอสเอ็มอี และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน 2) มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้องเป็นมาตรการยั่งยืนที่ไม่ใช่แค่การเยียวยาโดยตรง 3) หาแนวทางในการจูงใจให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ จ้างงาน

4) เน้นในเรื่องการจ้างแรงงานนักศึกษาจบใหม่ และ 5) จะต้องทำงานอย่างซื่อสัตย์ โปร่งใส รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย

โดยภายในเดือน ส.ค.นี้ รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเอสเอ็มอีที่มีความเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ ภายใต้วงเงินที่มีอยู่ โดยในวันที่ 19 ส.ค.นี้ จะมีการประชุม ศบศ.นัดแรก จะมีการเสนอมาตรการดูแลเอสเอ็มอี รวมถึงปรับเงื่อนไขสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่จะทำให้เหมาะสม

พร้อมกันนี้ จะมีการดูแลประชาชนกลุ่มที่เดือดร้อนแบบช่วยลดค่าใช้จ่าย ส่วนการดูแลในรูปแบบการเยียวยาจะมีน้อยลง และรัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอของภาคเอกชนที่เสนอเข้ามาให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เช่น มาตรการช็อปช่วยชาติ เป็นต้น ซึ่งตรงนี้อยากให้ภาคเอกชนส่งข้อมูลรายละเอียดถึงข้อดีของการออกมาตรการดังกล่าวมาให้พิจารณาประกอบด้วย

“ช่วงที่เหลือของปีจะมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้วงเงินที่มีอยู่ หากมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเติมก็จะทำ เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนเรื่องสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะกลับมาระบาดรอบ 2 ส่วนที่เอกชนขอให้พิจารณาขยายกรอบการกู้เงินตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน ก็ต้องเสนอเข้ามาที่ศูนย์ ศบศ.ก่อน เชื่อว่ารัฐบาลก็พร้อมที่จะพิจารณา” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นโยบายเร่งด่วน “คลัง”

 

นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนของกระทรวงการคลัง ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ก็คือ ปัญหารายได้ การมีงานทำ ค้าขายลำบาก ซึ่งนโยบายแรก ๆ ที่จะทำก็คือ การช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ต้องเติมสภาพคล่องให้ ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกฎเกณฑ์มาตรการที่เคยออกมา แต่ยังมีความติดขัดอยู่

นอกจากนี้จะมีมาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการใช้จ่ายลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้มีเม็ดเงินลงไปสู่ระบบ

“ในประชุม ศบศ.ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ เราจะมีมาตรการและวิธีการต่าง ๆ ที่จะดูแลในระหว่างนี้ไปจนถึงวันที่มีวัคซีน โควิดหายไป และเรากลับมาทำมาค้าขายได้ปกติ” นายปรีดีกล่าว

นายปรีดีกล่าวด้วยว่า การบริหารกระทรวงการคลังจะเน้นสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาระดับหนี้สาธารณะไม่ให้เกิน 60% ต่อจีดีพี ยกเว้นเกิดกรณีโควิด-19 ระบาดหนักอีกก็คงหลีกเลี่ยงที่จะกู้เพิ่มไม่ได้

“กระทรวงการคลังจะทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพการคลัง เสถียรภาพของระบบการเงิน และเสถียรภาพสถาบันการเงิน ให้เป็นหลักของประเทศ ตัวนี้เป็นหลักสำคัญ เพราะถ้าทุกคนไม่เชื่อถือแล้ว มันยืนไม่อยู่ ดังนั้น ขอให้มั่นใจว่าเราจะทำอย่างระวัง ซึ่งกระทรวงการคลังจะทำงานร่วมกับ ธปท. ประคับประคองภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ไปจนกว่าจะกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ มีรายได้และผู้คนกระทบกระเทือนน้อยที่สุด” นายปรีดีกล่าว