เบี้ย “ประกันภัยต่อ” จ่อพุ่ง 30% จับตา”เมกะโปรเจ็กต์” สะเทือนยกแผง

โครงการสร้างรถไฟฟ้า

“โควิด-19” กระแทกตลาด “ประกันภัยต่อ” อ่วม ดันเบี้ย “เมกะโปรเจ็กต์” จ่อพุ่ง 30% ยกแผงจับตาโครงการ “ก่อสร้างรถไฟฟ้า-โรงกลั่นน้ำมัน” ถูกกระทบหนัก ฟาก “ทิพยประกันภัย” เร่งประเมินผลกระทบจ่อขึ้นเบี้ยกลุ่มเสี่ยง “โรงแรม-ท่องเที่ยว-โรงงาน”

นายโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ (THRE) เปิดเผยว่า ปี 2563 นี้ ความเสียหายจากผลกระทบโควิด-19 ค่อนข้างกดดันตลาดประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอร์) ของโลก ทำให้มีแนวโน้มจะต้องปรับราคาเบี้ยประกันภัยปี 2564 แพงขึ้นมาก และคาดว่าจะมีผลต่อตลาดประกันภัยในประเทศไทยช่วงปลายปีนี้ที่เป็นช่วงต่อสัญญา โดยงานรับประกันเกี่ยวกับทรัพย์สิน (property risk) มีความเสี่ยง ราคาเบี้ยจะแพงขึ้นถึง 30% ซึ่งขณะนี้เห็นสัญญาณชัดเจนในกลุ่มงานรับประกันภัยขนาดใหญ่ที่ส่งรีอินชัวรันซ์ไปต่างประเทศ มูลค่า 8,000-10,000 ล้านบาท อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า, โรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น

“พวกงานรับประกันภัยที่ต้องรีไปต่างประเทศ ต้องปรับเบี้ยสูงขึ้นแน่นอน ในขณะที่งานรับประกันภัยขนาดประมาณ 500-1,000 ล้านบาท ที่อยู่ในประเทศ อาจยังไม่ต้องปรับเบี้ย” นายโอฬารกล่าว

ทั้งนี้ ประเมินว่าเบี้ยที่จะถูกปรับแพงขึ้นอย่างมากในตลาดต่างประเทศ คือ การเคลมประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่ระดับบริหาร (D&O) เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้เกิดความเสียหายทางการเงิน ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น อันเนื่องมาจากการประมาทหรือกระทำผิดวินัยซึ่งต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย

“ราคาเบี้ยประกันที่น่าจะแพงขึ้น เกิดจากดีมานด์และซัพพลายในตลาดโลก โดยหากรีอินชัวเรอร์ขาดทุนมาก เงินทุนที่มารับประกันก็ลดลง เห็นตัวอย่างชัดเจนเมื่อตอนวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 รีอินชัวเรอร์ไม่มีใครกล้ารับประกัน มีแค่รายเดียว ซึ่งกำหนดเบี้ยได้ ทำให้ราคาเบี้ยประกันกระโดดขึ้นทันที 2-3 เท่า ตอนนี้ตลาดโลกกำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 ดังนั้นต้องรอประเมินซัพพลายในตลาดโลกอีกทีว่าจะหดตัวไปแค่ไหน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางเบี้ยในปีหน้า ทั้งนี้ ในฐานะผู้รับประกันภัยต่อ ถ้าเบี้ยในตลาดปรับแพงขึ้นฝั่งขารับจะทำให้บริษัทมีรายได้มากขึ้นแต่ในเชิงผลกระทบต้องซื้อความคุ้มครองที่แพงขึ้นเหมือนกัน แต่ชั่งน้ำหนักดูแล้วน่าจะเป็นบวกมากกว่า” นายโอฬารกล่าว

แหล่งข่าวจาก บมจ.ทิพยประกันภัยกล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย (loss ratio) ของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะต้องปรับเบี้ยแพงขึ้นเท่าไร แต่ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ธุรกิจโรงแรม, การท่องเที่ยว, โรงงาน เป็นต้น ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่หดตัวจากโควิด-19 ทำให้ธุรกิจชะงัก ขาดรายได้ น่าจะเป็นกลุ่มที่ต้องปรับเบี้ยแพงขึ้นมากที่สุด

“ปัจจุบันพอร์ตรับประกันกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม โรงงาน คิดเป็น 1% ของเบี้ยรับรวม หรือราว 200 ล้านบาท ทุนประกันเฉลี่ย 10-100 ล้านบาท”

แหล่งข่าวจาก บมจ.เจนเนอราลี่ประกันภัย (ไทยแลนด์) กล่าวว่า การต่อสัญญาประกันภัยต่อช่วงปลายปีนี้ เบี้ยน่าจะปรับแพงขึ้นเกือบ 30% แต่ทั้งนี้ คงขึ้นอยู่ผลประกอบการของบริษัทด้วยว่าผลของการรับประกันมีความเสียหายเพียงใด หากยังทำกำไรได้เล็กน้อย ก็อาจจะปรับเบี้ยแค่ 50% ของตลาด

“ปีหน้าน่าจะเห็นบางธุรกิจขอลดเบี้ยและลดทุนประกันลง ทำให้อาจมีเบี้ยประกันจะเข้ามาน้อยลง และบางธุรกิจถึงขั้นไม่ต่อประกัน เพื่อเก็บเงินสดไว้บริหารองค์กร รอเศรษฐกิจฟื้นดีขึ้นแล้วค่อยกลับมาทำประกัน”

นายไบรอัน สมิธ กรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา แคปปิตอล (AYUD) ในฐานะบริษัทแม่ที่ถือหุ้น 99.99% ใน บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย (AAGI) กล่าวว่า ปีนี้ตลาดประกันภัยต่อโลกได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จากยอดเคลมประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (business interruption) แต่เนื่องจากบริษัทไม่ได้รับประกันส่วนนี้จึงไม่ถูกกระทบ