บาทแข็งค่าหลุด 34.0 หลังเฟดส่งสัญญาณชะลอการขึ้นดอกเบี้ย

ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 11-14 กรกฎาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันอังคาร (11/7) ที่ระดับ 34.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (7/7) ที่ 34.09/11 บาท/ดอลลาร์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากที่ช่วงคืนวันศุกร์ (7/7) กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรออกมาเพิ่มขึ้น 222,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายนสูงกว่าที่เพิ่มขึ้น 152,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม และเกินกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นราว 174,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.4% ตามที่นักวิเคราะห์คาดไว้ สูงกว่าระดับ 4.3% ในเดือนพฤษภาคม โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ทบทวนปรับเพิ่มตัวเลขการจ้างงานในเดือนพฤษภาคมเป็นเพิ่มขึ้น 152,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้นเพียง 138,000 ตำแหน่ง และทบทวนปรับเพิ่มตัวเลขจ้างงานในเดือนเมษายน โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 207,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 174,000 ตำแหน่ง ส่วนตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงาน เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมิถุนายน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนพฤษภาคม และปรับเพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ การที่ตัวเลขออกมาแข็งแกร่งกว่าที่คาดทำให้นักลงทุนต่างคิดว่าเฟดมีแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ดีขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ดีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงในวันพุธ (12/7) จากเหตุการณ์ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เปิดเผยอีเมล์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในปีที่แล้วเขาได้ตกลงที่จะพบปะกับสตรีผู้หนึ่งที่อ้างว่าเป็นทนายความของรัฐบาลรัสเซีย และเป็นผู้ที่อาจจะมีข้อมูลที่จะสร้างความเสียหายกับนางฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือจากรัฐบาลรัสเซียที่ให้แก่นายโดนัลด์ ทรัมป์ อีเมล์เหล่านี้ถือเป็นหลักฐานที่แน่นหนาที่สุดที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่หาเสียงของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยินดีที่จะรับความช่วยเหลือจากรัสเซียเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง โดยประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นปัญหาสำคัญสำหรับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงที่ผ่านมา และส่งผลให้กระทรวงยุติธรรมและสภาคองเกรสของสหรัฐ ดำเนินการสอบสวนคดีด้วย ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดให้ความสำคัญต่อการแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีของ นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ และคณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งวุฒิสภาสหรัฐในวันพุธ (12/7) และวันพฤหัสบดี (13/7) โดยการแถลงดังกล่าวมีใจความสรุปว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พร้อมที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปหากตัวเลขเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ และให้ความคิดเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อคงยังไม่น่าจะเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐในอนาคตนั้นจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นฟูของเศรษฐกิจ และการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันนั้นไม่ได้หมายความว่าเฟดจะไม่สามารถบรรลุอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ 12 เขตหรือ Beige Book ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวปานกลางในเดือนมิถุนายน โดยตลาดแรงงานอยู่ในภาวะตึงตัวมากขึ้น ขณะที่แรงงานกดดันเงินเฟ้อลดน้อยลง โดยเขตของเฟดส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวพอประมาณไปจนถึงปานกลาง ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า ส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของเศรษฐกิจสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ เขตของเฟด นำโดยยอดค้าปลีกไม่รวมยานยนต์ และการท่องเที่ยว เฟดระบุในรายงานอีกว่า การจ้างงานในเขตส่วนใหญ่ยังคงขยายตัวพอประมาณถึงปานกลาง โดยภาวะการจ้างงานในเขตแอตแลนตาและเซนต์หลุยส์นั้นทรงตัว ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.88-34.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (14/7) ที่ระดับ 33.88/33.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ เปิดตลาดในวันอังคาร (11/7) ที่ระดับ 1.1395/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/7) ที่ 1.1400/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงจากแรงกดดันของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่แข็งค่าขึ้น ถึงแม้ว่าสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า บรรดารัฐมนตรีกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิกยูโรโซน หรือยูโรกรุ๊ป เตรียมประเมินเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง หลังเศรษฐกิจปรับตัวในทิศทางที่ดีกว่าคาดการณ์ หลังจากที่เศรษฐกิจยูโรโซนได้ขยายตัวติดต่อกันถึง 16 ไตรมาส ขณะที่ยูโรกรุ๊ป จำเป็นต้องมีการกำหนดทิศทางด้านการคลังสำหรับปีหน้า ส่วนทางสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี (FSO) ได้มีการเปิดเผยตัวเลขยอดส่งออกเดือนพฤษภาคมของเยอรมนีออกมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.4% ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ขณะที่นำเข้าเพิ่มขึ้น 1.2% ส่งผลให้เยอรมนีเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2.03 หมื่นล้านยูโรในเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นจาก 1.97 หมื่นล้านยูโรในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดีค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์จากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ตัวเลขกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายเดือน และปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.0% เมื่อเทียบรายปี ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนีทรงตัวที่ระดับ 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 1.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี และดัชนีราคาผู้บริโภคฝรั่งเศสทรงตัวเช้นกันที่ระดับ 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยตัวเลขเศรษฐกิจของยูโรโซนมีการส่งสัญญาณความแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากผลการสำรวจธุรกรรมการจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรมการผลิตในเดือนมิถุนายนของกลุ่ม 19 ประเทศยูโรโซน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อของประเทศสมาชิกหลักในกลุ่มยูโรโซนที่ปรับตัวดีขึ้น เช่น อัตราเงินเฟ้อของเยอรมนีปรับเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน และ 1.5% เมื่อเทียบรายปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศฝรั่งเศสคงที่เมื่อเทียบรายเดือน แต่ปรับเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบรายปี เป็นต้น ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1371-1.1489 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (14/7) ที่ระดับ 1.1418/1.1419 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในสัปดาห์นี้ เปิดตัวในวันอังคาร (11/7) ที่ระดับ 114.15/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/7) ที่ระดับ 113.87/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา (7/7) หลังจากที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) แถลงมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) อย่างไม่จำกัดจำนวน เพื่อที่จะควบคุมเพดานอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทน JGB ส่วนใหญ่ร่วงลง และทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอีกด้วย โดยในวันนี้ค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าลงเนื่องจากนักลงทุนยังคงขายสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากที่แนวโน้มเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศเริ่มมีทิศทางฟื้นตัว หน้า อย่างไรก็ดีค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ภายหลังจากประธานเฟดส่งสัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้นักลงทุนหันมาซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่้มมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดดัลนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อในระดับค้าส่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.1% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบรายปี ทำสถิติเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 เนื่องจากราคาน้ำมัน และเหล็กกล้าปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้รายงานยังระบุอีกว่า การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตนั้น อาจช่วยหนุนดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย โดยที่ผ่านมานั้น ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่นยังคงปรับตัวขึ้นอย่างเชื่องช้า แม้ว่า BOJ ได้ดำเนินมาตรการทางการเงินเชิงรุกเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ก็ตาม ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.86-114.49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (14/7) ที่ระดับ 113.20/113.24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้