สรรพสามิต พร้อมลดภาษีน้ำมันเครื่องบินอีก 6 เดือน

สรรพสามิต เล็งขยายเวลาลดภาษีน้ำมันอีก 6 เดือน อุ้มธุรกิจสายการบิน พร้อมปิดหีบปีงบ’63 ชี้เก็บรายได้เกินเป้า ทะลุ 5.03 แสนล้านบาท มั่นใจปีงบ’64 รีดภาษีได้ตามเป้า 5.34 แสนล้านบาท หากเศรษฐกิจไม่โดนกระทบ

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ที่กลุ่มสายการบินในประเทศไทย ได้ขอให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจการบินที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้ขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินถึงสิ้นปีงบประมาณ 2564 นั้น กรมพร้อมที่จะพิจารณาปรับลดภาษีน้ำมัน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอีก 6 เดือน หลังจากที่ได้มีการลดภาษีน้ำมัน เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการสายบินจากสถานการณ์โควิด-19 จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2563 แล้ว

“ตอนนี้กรมยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจากภาครัฐ ว่าธุรกิจสายการบินมีข้อเสนออะไรบ้าง แต่กรมก็จะรับไปพิจารณา ต้องยอมรับว่าขณะนี้ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด ฉะนั้น ถ้าการลดภาษีแล้วเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจกรมก็ยินดีที่จะส่งเสริม ซึ่งคาดว่าจะสามารถขยายเวลาลดภาษีน้ำมันช่วยสายการบินได้อีก 6 เดือน แต่ก็ต้องรอประเมินตามสถานการณ์อีกครั้ง โดยหากกรมลดภาษีน้ำมันช่วยสายการบินถึงสิ้นปีงบ 64 ตามข้อเสนอ จะทำให้กรมสูญเสียรายได้ 1,000 ล้านบาท”

ส่วนภาพรวมการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2563 หลังจากที่สถานการณ์โควิดแพร่ระบาด ได้มีการปรับลดเป้าการจัดเก็บรายได้เหลือ 5.01 แสนล้านบาท จากเป้าเดิม 5.85 แสนล้านบาท ซึ่งกรมสามารถทำได้เกินเป้าจัดเก็บรายได้ล่าสุดแล้ว โดยจัดเก็บได้กว่า 5.03 แสนล้านบาท เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 2563 กรมมีรายได้จากการเก็บภาษีรถยนต์ขนาดเล็กสูงขึ้นเกินคาด และภาษีน้ำมันด้วย ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากความชัดเจนเรื่องข้อเสนอลดภาษีรถยนต์ 50% ที่ไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในการบริโภคระยะยาว จึงทำให้การทำธุรกรรมต่างๆ เริ่มเดินหน้าได้

ขณะที่ปีงบประมาณ 2564 กรมได้รับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 5.34 แสนล้านบาท มั่นใจว่าสามารถทำได้ตามเป้าแน่นอน หากในปีหน้าไม่มีสถานการณ์เข้ามากระทบเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าโดยไม่ต้องปรับอัตราภาษีสรรพสามิต หรือขยายฐานภาษีเพิ่ม เนื่องจากการปรับอัตราภาษีจะส่งผลต่อภาระของผู้ผลิต

ทั้งนี้ ความคืบหน้าในการศึกษาภาษีความเค็ม ขณะนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากกระทรวงสาธารณสุข ในการพิจารณาปริมาณการบริโภคโซเดียมของคนไทยในแต่ละวัน ซึ่งภาษีความเค็มน่าจะยังไม่มีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ เนื่องจากผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดอยู่ ซึ่งหากมีผลบังคับใช้จะส่งผลต่อการเพิ่มภาระของผู้ประกอบการอีกทางหนึ่งด้วย