ไทม์ไลน์จองซื้อหุ้น SCGP รายย่อยซื้อขั้นต่ำ 1,000 หุ้น 3.5 หมื่นบาท

“SCGP” บิ๊กบรรจุภัณฑ์ จ่อเทรดตลาดหุ้นไทยวันแรกเดือน ต.ค.นี้ คาดเคาะราคาซื้อขายสุดท้ายวันที่ 8 ต.ค. แย้ม “กลุ่มนักลงทุนสถาบัน” สนใจกว่า 18 ราย เซ็นสัญญารวมทั้งสิ้น 676.53 ล้านหุ้น ราว 60% ของหุ้นไอพีโอ 1,127.6 ล้านหุ้น เปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อวันที่ 1,2,5 ต.ค.63 เบื้องต้นกำหนดช่วงราคาซื้อขายที่ 33.50-35.00 บาทต่อหุ้น “ผู้บริหาร” ชี้นำเงินระดมทุนที่ได้ 4.3-4.5 หมื่นล้านบาท ขยายธุรกิจ-ลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน

นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม เปิดเผยว่า บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เป็นหุ้นไอพีโอที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ภายในเดือน ต.ค.2563 ซึ่งจะมีการกำหนดราคาซื้อขายวันสุดท้ายวันที่ 8 ต.ค.ที่จะถึงนี้ โดนหุ้น SCGP จะจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หมวด “บรรจุภัณฑ์” ซึ่งจะมีการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนใหม่ไม่เกิน 1,296.68 ล้านหุ้น โดยจะแบ่งเป็นหุ้นที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป(IPO) จำนวนไม่เกิน 1,127.55 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.5% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด ส่วนที่เหลือไม่เกิน 169.1 ล้านหุ้น จะเป็นการขายหุ้นส่วนเกิน(Green Shore)

โดยการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบัน โดยมีกลุ่มนักลงทุนหลักแบบเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) จำนวน 18 ราย ได้ลงนามในสัญญา Cornerstone Placing Agreement รวมทั้งสิ้น 676.53 ล้านหุ้น หรือประมาณ 60% ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอไอพีโอ ซึ่งประกอบด้วย นักลงทุนสถาบันในประเทศ 14 รายรวมทั้งสิ้น 600 ล้านหุ้น คือ

1. บลจ.บัวหลวง จำนวน 135 ล้านหุ้น

2. บลจ.กสิกรไทย จำนวน 135 ล้านหุ้น

3. บลจ.ไทยพาณิชย์ จำนวน 81 ล้านหุ้น

4. บลจ.เอ็มเอฟซี จำนวน 63 ล้านหุ้น

5. บลจ.ทิสโก้ จำนวน 42 ล้านหุ้น

6. บลจ.กรุงไทย จำนวน 37 ล้านหุ้น

7. บลจ.ยูโอบี(ประเทศไทย) จำนวน 26 ล้านหุ้น

8. บลจ.ธนชาต จำนวน 25 ล้านหุ้น

9. บมจ.ไทยประกันชีวิต จำนวน 13 ล้านหุ้น

10. บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด(ประเทศไทย) จำนวน 11 ล้านหุ้น

11-14. บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต บลจ.พรินซิเพิล บลจ.ภัทร จำนวน 8 ล้านหุ้น บลจ.วรรณ จำนวน 8 ล้านหุ้น

ส่วนที่เหลือ 4 รายเป็นนักลงทุนสถาบันต่างประเทศรวม 76.53 ล้านหุ้นคือ 1.Avanda Investment Management Pte Ltd จำนวน 27 ล้านหุ้น 2.NTAsian Discovery Master Fund จำนวน 23 ล้านหุ้น 3.Ghisallo Master Fund LP จำนวน 13.265 ล้านหุ้น 4. Tydor Systematic Tactical Trading LP จำนวน 13.265 ล้านหุ้น

ส่วนที่เหลือ 15% จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น 15% และอีก 25% จัดสรรให้ผู้มีอุปการคุณของ SCGP และผู้ถือหุ้นกู้ของ SCC และลูกค้าของผู้จัดการจำหน่ายและการรับประกันรวมทั้งหมด 11 แห่ง

ทั้งนี้สำหรับช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้นสำหรับหุ้นไอพีโอ SCGP กำหนดที่ 33.50 -35.00 บาทต่อหุ้น โดยนักลงทุนรายย่อยต้องจองซื้อที่ 35.00 บาทต่อหุ้น และหากช่วงกำหนดราคาซื้อขายวันสุดท้ายวันที่ 8 ต.ค.ต่ำกว่าราคา 35 บาท หรือมีคนเข้ามาจองซื้อล้นก็จะไม่สามารถจัดสรรให้ได้เต็มจำนวน ส่วนเกินดังกล่าวบริษัทจะมีการคืนเงินให้กับผู้จองซื้อหลังจากปิดการจำหน่ายแล้ว

โดยกำหนดระยะเวลาจองซื้อของผู้จองซื้อแต่ละประเภท ดังนี้

1.ผู้ถือหุ้น SCC, ผู้ถือหุ้น SCGP, ผู้มีอุปการคุณของ SCGP รวมถึงผู้ถือหุ้นกู้ SCC สมารถจองซื้อได้ในวันที่ 28 ก.ย.- 2 ต.ค.2563 (เฉพาะวันทำการ)

2.ผู้จองซื้อรายย่อย สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 1,2 และ 5 ต.ค.63 โดยจองซื้อขั้นต่ำที่ 1,000 หุ้น มูลค่า 35,000 บาท วิธีการจัดสรรจะเป็นลักษณะ Small Lot First ทุกคนจะได้หุ้นเพียงแต่จะแจกเป็นรอบๆ จนกระทั่งหุ้นหมด

3.บุคคลตามดุลพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 5-7 ต.ค.63

สำหรับไทม์ไลน์หุ้น SCGP ขณะนี้แบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และแบบไฟลิ่งของ SCGP มีผลใช้บังคับเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 21 ก.ย.63 และบ่ายนี้(23 ก.ย.) จะเป็นการจัดงาน IPO Roadshow และระหว่างวันที่ 28 ก.ย.-7 ต.ค.63 เป็นระยะเวลาการจองซื้อตามข้างต้น และวันที่ 8 ต.ค.จะเป็นการประกาศราคาเสนอขายสุดท้าย และวันที่ 9-14 ต.ค.63 จะเป็นระยะเวลาการจองของนักลงทุนสถาบัน และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนซื้อขายวันแรกภายในเดือน ต.ค.นี้

ทั้งนี้ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหลัก 2 รายคือ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง และอีก 9 บริษัทหลักทรัพย์ร่วมคือ 1.บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย 2.บริษัทหลักทรัพย์กรุงไทยซีมิโก้ 3.บริษัทหลักทรัพย์ดีบีเอสวิคเคอร์ส (ประเทศไทย) 4.บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ 5.บริษัทหลักทรัพย์ธนชาต 6.บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประทศไทย) 7.บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซียไซรัส 8.บริษัทหลักทรัพย์ยูโอบีเคย์เฮียน (ประเทศไทย) และ 9.บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย)

นายกุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน SCGP กล่าวว่า การระดมทุนครั้งนี้จะได้เงินมาประมาณ 4.3-4.5 หมื่นล้านบาท(รวมหุ้นส่วนเกิน) โดยจำนวนเงิน 27,000 ล้านบาท หรือราว 60% ที่จะใช้ในการขยายการเติบโตของธุรกิจ อย่างไรก็ดีบริษัทมีการเติบโตแบบ Organic ซึ่งได้ลงทุนรวมไปกว่า 8,200 ล้านบาท ในการขยายกำลังการผลิตอีก 4 โครงการ ในประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลลิปปินส์ ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จในปี 2564 ซึ่งจะสะท้อนการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

โดยเฉพาะด้านความแข็งแกร่งทางการเงิน มีหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.9 เท่า เมื่อได้เงินจากการระดมทุนครั้งนี้จะใช้เงินบางส่วนในการลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน เพื่อให้งบการเงินมีความแข็งแกร่งที่จะเติบโตต่อไป โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลขั้นต่ำ 20% ของกำไรสุทธิ

“เราเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์ในห่วงโซ๋อุปทานของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจรีเทล ไปจนถึงมือผู้บริโภค”

ประมาณการเบื้องต้นของมูลค่าตลาด(มาร์เก็ตแคป) ราว 1.4 แสนล้านบาท มีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้าไปอยู่ใน SET50 ตั้งแต่วันแรกๆ ที่จะเข้าเทรดตามกฎตลาดหลักทรัพย์