ก.ล.ต. ดันกระดานหุ้น “เอสเอ็มอี-สตาร์ตอัพ” เปิดเทรด Q2 ปี’64

สำนักงาน ก.ล.ต.

ก.ล.ต. จับมือ สสว. หนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน ตั้งเป้าไตรมาส 2 ของปี’64 เปิดกระดาน “SME บอร์ด” เทรดหุ้นเอสเอ็มอี-สตาร์ตอัพ ชี้ที่ผ่านมาบริษัทระดุมทุนผ่านหุ้นกู้แปลงสภาพ-หุ้นทุน 13 แห่ง มูลค่ารวม 78 ล้านบาท

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า การสนับสนุนให้เอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ เข้าถึงแหล่งทุน เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาตลาดทุนไทยของ ก.ล.ต. จึงทำให้มีการร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน และสร้างทางเลือกการลงทุนในตลาดทุนเพิ่มขึ้น

สำหรับการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนนั้น ก.ล.ต. ได้มีการทำงานร่วมกันกับตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) เพื่อดำเนินการเปิดกระดานตลาดหุ้นที่ 3 หรือเรียกว่า “SME บอร์ด” สำหรับเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการซื้อขายหุ้นได้ในช่วงไตรมาส 2 และ ไตรมาส 3 ของปี 2564

ซึ่งขณะนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ อย่างไรก็ดี จะเปิดเอสเอ็มอีที่เป็นบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชน รวมถึงบริษัทสตาร์ตอัพสามารถเข้ามาระดมทุนผ่านช่องทางดังกล่าวได้ ซึ่งปัจจุบันมองว่ามีเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการเข้ามาเทรดกว่า 40-50 บริษัท

นางสาวรื่นวดี กล่าวว่า เอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพที่สนใจ สามารถยื่นแบบฟอร์มข้อมูลบริษัท (Template) ซึ่งมีรายละเอียดที่น้อยกว่าการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ของบริษัทจดทะเบียนทั่วไป (บจ.) มีระยะเวลาการพิจารณาอนุมัติภายใน 14 วันทำการ จึงสามารถเปิดให้เสนอขายหลักทรัพย์ (หุ้น) ได้ โดย ก.ล.ต.จะเน้นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจการลงทุนได้อย่างครบถ้วน

“หลักเกณฑ์การเข้ามาเทรดบนกระดานที่ 3 ของ เอสเอ็มอี จะมีขั้นตอนไม่เหมือนกับบริษัทขนาดใหญ่ หรือเป็นการเปิดเผยข้อมูลแบบสั้นๆ บนเว็บไซต์, ไม่มีการกำหนดเกณฑ์รายได้ กำไร แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนจะต้องเป็นนักลงทุนที่เข้าใจในธุรกิจเอสเอ็มอี นั้นๆ เป็นอย่างดี รวมถึงจะต้องมีฐานะทางการเงินอยู่ในระดับที่ดีด้วย โดยเปิดกว้างให้กับนักลงทุนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็น นักลงทุนสถาบัน, นักลงทุนรายใหญ่, นักลงทุนรายย่อย, ไพรเวทอิคิวตี้ฟันด์ และธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VC) เป็นต้น ประกอบกับระยะเวลาการอนุมัติให้ซื้อขายจะใช้เวลาเพียง 14 วันทำการเท่านั้น”

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาก.ล.ต. ก็ได้มีสนับสนุนให้เอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพเข้าถึงแหล่งทุนผ่านช่องทางต่างๆ โดยการออกและปรับปรุงหลักเกณฑ์รองรับและลดอุปสรรคในการระดมทุน เช่น หลักเกณฑ์การออกหุ้นทุนและหุ้นกู้แปลงสภาพในวงเงินที่จำกัด ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่ระดมทุนผ่านผ่านตลาดทุนดันกล่าว รวม 13 แห่ง มูลค่าทั้งสิ้น 78.19 ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นทุนแล้ว 12 บริษัท และมีอีก 1 บริษัทที่สามารถระดมทุนผ่านหุ้นกู้แปลงสภาพ

พร้อมกันนี้ ปี 2562 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการตั้งคณะทำงานเสริมสร้างรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจเริ่มต้นกิจการเงินร่วมลงทุน และนิติบุคคลร่วมลงทุนสู่ตลาดทุนไทย หรือคณะทำงาน SME Startup PE VC โดยมี 14 หน่วยงานอยู่ในคณะทำงานชุดดังกล่าวด้วย

“การร่วมมือกับ สสว. ครั้งนี้ จะทำให้ ก.ล.ต. และ สสว. สามารถแลกเปลี่ยน สนับสนุนข้อมูล ความรู้ และความเชี่ยวชาญในภารกิจระหว่างกัน ตลอดจนนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมระบบนิเวศด้านตลาดทุนที่เหมาะสมกับความต้องการและความพร้อมของเอสเอ็มอีต่อไป”

ด้าน นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า ในประเทศไทยมีข้อมูลเอสเอ็มอีอยู่ในระบบ 3 ล้านราย ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบสูงถึง 5-9 ล้านราย โดยเอสเอ็มอีเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยปี 2562 ที่ผ่านมา เอสเอ็มอีสร้างมูลค่าได้กว่า 35% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ทำให้ สสว. ต้องเน้นขับเคลื่อนเอสเอ็มอี ผ่าน 3 เรื่อง ได้แก่

1. การแสวงหาช่องทางการตลาดให้กับเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มรายได้ 2. การลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพและเสริมองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการ และ 3. การอำนวยความสะดวกเพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ สสว. จึงได้มีการร่วมมือกับ ก.ล.ต. เพื่อดูแลเอสเอ็มอีต่อไป