“ไทยพาณิชย์” เตือนรับมือ 4 ปัจจัยตลาดแรงงานไทยอ่อนแอ หลังคลายล็อกดาวน์

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เตือนรับมือ 4 ปัจจัยตลาดแรงงานไทยอ่อนแอ หลังคลายล็อกดาวน์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ เรื่อง “EIC ประเมิน 4 สัญญาณความอ่อนแอของตลาดแรงงานไทย หลังคลายล็อกดาวน์”

โดยชี้ถึงประเด็นสำคัญ ว่า วิกฤตเศรษฐกิจ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดแรงงาน โดยนำไปสู่การตกงานของแรงงานจำนวนมากในไตรมาสที่ 2 ถึง 7.5 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.95% ต่อกำลังแรงงานรวม ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี อีกทั้งยังมีแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราวจำนวนสูงถึง 2.5 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ขณะที่หลังคลายล็อกดาวน์ ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมบ่งชี้ว่า แม้อัตราการว่างงานในภาพรวมจะลดลงบ้าง แต่ตลาดแรงงานยังถือว่าอยู่ในสภาวะซบเซา สะท้อนจาก 4 สัญญาณความอ่อนแอ
ได้แก่

(1) อัตราการว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมยังคงเพิ่มสูงขึ้น

(2) กลุ่มแรงงานอายุน้อย (15-24 ปี) ยังมีปัญหาการว่างงานในระดับสูง

(3) จำนวนแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราว (furloughed workers) ยังสูงกว่าในอดีตมาก

(4) สัดส่วนการทำงานต่ำระดับ (underemployment) ยังคงเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ EIC คาดว่าตลาดแรงงานจะใช้เวลานานในการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากกำลังในการดูดซับแรงงานที่ถดถอยลงของภาคธุรกิจและปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างทักษะแรงงานกับความต้องการทางธุรกิจ (skill mismatch) โดยเป็นไปได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้อาจไม่นำไปสู่การจ้างงานเพิ่มมากนัก ทำให้แรงงานมีแนวโน้มต้องเปลี่ยนไปทำงานนอกระบบ เช่น รับจ้างหรือทำงานอิสระมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อระดับรายได้และความมั่นคง

โดย EIC มองว่า ปัญหาการว่างงานจะยังคงอยู่ในระดับสูงและฟื้นตัวได้ไม่เร็ว จากแนวโน้มการปิดกิจการของภาคธุรกิจที่ยังเร่งตัว ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 28 สิงหาคม 2563 มีจำนวนธุรกิจที่แจ้งเลิกกิจการกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารวมทั้งสิ้นราว 1.4 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 9.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และถึงแม้จะมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ไปแล้วการปิดกิจการก็ยังเพิ่มในอัตราที่เร่งขึ้น

โดยในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม การปิดกิจการขยายตัวที่ 29.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และในช่วง 28 วันแรกของเดือนสิงหาคม ก็ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตราเร่งที่ 34.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยคาดว่าเป็นผลมาจากการขาดรายได้ของกิจการขณะที่สภาพคล่องมีไม่เพียงพอ กิจการที่ปิดตัวลงนี้จะส่งผลทำให้แรงงานในกิจการนั้น ๆ ต้องว่างงานลง

ขณะที่กำลังการดูดซับแรงงาน (จ้างงาน) ของภาคธุรกิจมีลดน้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจที่มีส่วนทำให้การเปิดกิจการของภาคธุรกิจก็ลดน้อยลงตามไปด้วย โดยในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 28 สิงหาคม 2020 จำนวน
การจดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ลดลง -12.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลประกาศรับสมัครงานบนเว็บไซต์ Jobsdb.com ที่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 27 ก.ย.-3 ต.ค.) จำนวนประกาศรับสมัครงานเฉลี่ยยังต่ำกว่าช่วงสัปดาห์ก่อนมีมาตรการปิดเมือง (วันที่ 21-27 มี.ค.) ถึง -20.8%

โดยต่ำกว่าในทุกอุตสาหกรรมและระดับเงินเดือน สะท้อนให้เห็นว่าภาวะการจ้างงานยังคงซบเซาเป็นวงกว้างแม้ว่ามาตรการล็อกดาวน์จะถูกผ่อนคลายลงมากแล้วก็ตาม ทั้งนี้ คาดว่าในระยะข้างหน้ารายได้ภาคธุรกิจยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่พึ่งพารายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องรอความชัดเจนในด้านการพัฒนาวัคซีนและการผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้แนวโน้มการเปิด-ปิดกิจการจะยังคงซบเซา และกระทบต่อการจ้างงานในระยะถัดไป

ซึ่งความล่าช้าในการฟื้นตัวของตลาดแรงงานนี้จะส่งผลให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้า กระทบกับความสามารถในการชำระหนี้ และยังอาจส่งผลให้ศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระยะยาวลดลง นโยบายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการในระยะสั้นเพื่อประคับประคองการจ้างงาน และนโยบายเชิงโครงสร้างเพื่อจัดสรรแรงงานที่จะมีการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนอุตสาหกรรม (relocate) เป็นจำนวนมาก รวมถึงพัฒนาทักษะแรงงานให้มีผลิตภาพ (productivity) สูง และสอดคล้องกับความต้องการภาคธุรกิจในอนาคต