จับตา “ซอมบี้เฟิร์ม” พุ่ง “โรงแรม-อสังหาฯ” ส่อเบี้ยวหนี้

อสังหาฯ-ตึกสูง

สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นที่พูดถึงกันมากเรื่องหนึ่งก็คือ มาตรการ “พักหนี้” ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 22 ต.ค.นี้ โดยนอกจากในมุมของหน่วยงานกำกับดูแล และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ต้องเตรียมมาตรการใหม่เอาไว้รับมือแล้ว ก็ยังมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวเนื่องกัน

จากการนำเสนอของ “ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS” ธนาคารกรุงไทย ที่ได้มีบทวิเคราะห์ เรื่อง “ตรวจสุขภาพความแข็งแกร่งของธุรกิจไทย ไปต่อหรือพอแค่นี้” ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูล “ผู้ประกอบการที่ต้องประสบกับภาวะซมไข้ยาวนาน” หรือเรียกว่า “Zombie Firm” (ซอมบี้เฟิร์ม) ไว้อย่างน่าสนใจ

“ปีนี้ผลกระทบโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมค่อนข้างรุนแรง ซึ่งน่าจะทำให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการไข้เรื้อรังมายาวนาน ก็อาจจะมีอาการทรุดตัวลงในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ที่จะรุนแรงขึ้น ส่วนผู้ประกอบการที่มีสุขภาพดีมาก่อนแต่ก็คงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ซึ่งอาจจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้แย่ลงได้เช่นกัน” ดร.ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ นักวิเคราะห์ของศูนย์วิจัย หนึ่งในผู้นำเสนอกล่าว

ทั้งนี้ “ซอมบี้เฟิร์ม” คือ ธุรกิจที่มีค่า interest coverage ratio (ICR) หรือมีกำไรจากการดำเนินงานไม่เพียงพอต่อการจ่ายดอกเบี้ย ต่ำกว่า 1 เท่า ติดต่อกัน 3 รอบปีบัญชีล่าสุด ซึ่งค่า ICR สะท้อนมาจากยอดขายของธุรกิจ โดยหากคำนวณออกมาแล้ว ICR ต่ำกว่า 1 เท่า ถือว่ามีความเสี่ยงสูง

ขณะที่ในภาพรวมธุรกิจทั้งหมดในปี 2563 มีค่า ICR อยู่ที่ 3.1 เท่า ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 3.1 เท่า เนื่องจากยอดขายของธุรกิจในภาพรวมปีนี้ น่าจะหดตัวรุนแรงที่ -9% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วง 5 ปีย้อนหลังที่ยอดขายโต 3.2%

“ดร.ชัยสิทธิ์” บอกอีกว่า ปีนี้สัดส่วนกิจการที่เข้าข่าย “ซอมบี้เฟิร์ม” จะเพิ่มขึ้นเป็น 14% จากปีก่อนอยู่ที่ 10% และปีหน้า (ปี 2564) น่าจะเพิ่มเป็น 26% ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วงเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ และความสามารถในการชำระดอกเบี้ยจ่าย

ทั้งนี้ ธุรกิจ “ซอมบี้เฟิร์ม” มีทั้งในธุรกิจเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดใหญ่ โดยมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันอยู่ที่ระดับ 9-10% โดยผู้ประกอบการที่เป็น “ซอมบี้เฟิร์ม” จะมีรายได้รวมค่อนข้างต่ำ แต่มีการก่อหนี้ในระดับสูง และเมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่า กิจการที่เข้าข่ายเป็น “ซอมบี้เฟิร์ม” จะกระจายตัวอยู่ในแทบทุกประเภทธุรกิจ

อย่างไรก็ดี จะมี 5-6 กลุ่มธุรกิจที่ต้อง “จับตาเป็นพิเศษ” ประกอบด้วย 1.ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3.ธุรกิจสื่อและการบันเทิง 4.ธุรกิจเครื่องหนังและรองเท้า 5.ธุรกิจเครื่องสำอาง 6.ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม

โดยเฉพาะกรณีธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารนั้น คาดว่าสัดส่วน “ซอมบี้เฟิร์ม” จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 30% ในปีนี้ จากค่าเฉลี่ยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ประมาณ 26% ซึ่งเป็นผลพวงจากภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19

“หากไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมาช่วยผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร คาดว่าสัดส่วนกิจการซมไข้ยาวนานจะปรับขึ้นสูงกว่า 43% ในปีหน้า และระยะถัดไป” ดร.ชัยสิทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ พบว่า ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก มียอดขายหดตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 (-0.79%) และปี 2562 หดตัวค่อนข้างลึกที่ -7.12% สะท้อนความน่าเป็นห่วงในด้านความสามารถในการชำระหนี้

“ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารแข่งขันค่อนข้างสูง โดยเป็นการแข่งขันจากผู้ประกอบการหน้าเดิมที่มีอยู่จำนวนมากอยู่แล้ว อีกส่วนหนึ่งก็ยังมีหน้าใหม่เติมเข้ามาในแต่ละปี และระยะหลังแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ ก็เข้ามาดิสรัปต์รูปแบบการดำเนินงานธุรกิจ มีการแย่งลูกค้ากันง่ายดายขึ้นมาก” ดร.ชัยสิทธิ์กล่าว

ขณะที่ธุรกิจอสังหาฯก็พบว่า ภาพไม่ได้แตกต่างจากธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารมากนัก โดยสัดส่วน “ซอมบี้เฟิร์ม” จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 26% ในปีนี้ จากค่าเฉลี่ยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ระดับ 21% เนื่องจากรายได้ของธุรกิจหดตัวตามกำลังซื้อของครัวเรือน, ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง และปัญหาการว่างงานที่ยังไม่คลี่คลายลง ขณะที่ลูกค้าต่างชาติก็หดหายไปอย่างมาก เพราะไม่สามารถเดินทางเข้าออกประเทศไทยได้อย่างเสรี

“หากไม่มีมาตรการใด ๆ มาช่วยเหลือ สัดส่วน “ซอมบี้เฟิร์ม” ในธุรกิจอสังหาฯจะปรับขึ้นสูงไปสู่ระดับ 37% ได้” ดร.ชัยสิทธิ์กล่าว

ขณะที่ “ณัฐพร ศรีทอง” นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS อีกรายชี้ว่า ในระยะข้างหน้า สุขภาพธุรกิจไทยค่อนข้างอ่อนแอลง และยังเปราะบางสูง จากยอดขายที่มีแนวโน้มซบเซาลง โดยต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี กว่าจะฟื้นกลับมาสู่จุดเดิม ตลอดจนบริบทของการทำธุรกิจยังมีความท้าทายอยู่มาก

“ในระยะข้างหน้า เรากังวลความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดลง ซึ่งเราพบว่า หากเศรษฐกิจซบเซาลากยาว จะทำให้เกิดซอมบี้เฟิร์มเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง โดยความกังวลหลักอยู่ที่ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และธุรกิจอสังหาฯ เพราะมีสัดส่วนซอมบี้เฟิร์มที่มากที่สุด”

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มีข้อเสนอแนะนโยบายช่วยเหลือในระยะถัดไป ดังนี้ 1.มาตรการต้องเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ไม่ “เหวี่ยงแห” หรือเป็นการทั่วไป ที่สำคัญ ต้องอยู่บนพื้นฐานของการป้องกัน moral hazard (ภาวะด้านศีลธรรม) ด้วย เช่น ภาคธนาคารก็จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ที่ตรงจุด เฉพาะราย และอาจจะมีมาตรการเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่ม “sunrise industry” หรือมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในอนาคต

นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือต้องมีหลายมิติ นอกจากการช่วยเหลือด้านเงินทุน เช่น การยกเครื่องธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น และต้องช่วยธุรกิจให้ปรับตัวเข้าสู่บริบท new normal ได้อย่างยั่งยืน

จากนี้คงต้องติดตามมาตรการที่ภาครัฐกำลังจะออกมาในอีกไม่กี่วันนี้ ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นมาตรการที่ “ตอบโจทย์” ไปในทิศทางเดียวกับข้อเสนอเหล่านี้