ส่องงบฯ 4 แบงก์ใหญ่ ทำไมกำไรหดยกแผง

แบงก์พาณิชย์

ช่วงเดือนตุลาคม ธนาคารพาณิชย์ไทยทยอยแจ้งผลประกอบการงวดไตรมาส 3 ปี 2563 กันออกมาแล้ว โดยส่วนใหญ่ก็ออกมาตามที่มีการคาดการณ์กัน ว่ากำไรสุทธิของแบงก์จะยังคงชะลอตัว

ซึ่งเมื่อเข้าไปดูผลประกอบการของ 4 แบงก์ใหญ่ คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ก็พบว่า เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์กัน โดย 4 แบงก์ใหญ่มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 รวมกันอยู่ที่ 18,394 ล้านบาท ลดลงถึง 22,148 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิรวมกัน 40,542 ล้านบาท

ขณะที่กำไรสุทธิ 9 เดือนแรกของ 4 แบงก์ใหญ่ปีนี้อยู่ที่ 66,543 ล้านบาท ลดลงไป 50,132 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่อยู่ที่ 116,675 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพ ลดลง 9,438 ล้านบาท

เริ่มจากธนาคารกรุงเทพ (รวมบริษัทย่อย) ที่มีกำไรสุทธิ 4,017 ล้านบาท ในไตรมาส 3 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 9,438 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิงวด 9 เดือนจำนวน 14,783 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 27,814 ล้านบาท

โดยสาเหตุหลักเนื่องจากการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นเงินสำรองสำหรับความไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลกระทบของสถานการณ์ โควิด-19 ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน ก.ย.2563 ธนาคารกรุงเทพมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,367,296 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.6% จากสิ้นเดือน มิ.ย. 2563 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคล ขณะที่อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 4.1%

โดยมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตที่ 178% ส่วนเงินรับฝากมีจำนวน 2,821,883 ล้านบาท ลดลง 1.1% จากสิ้นเดือน มิ.ย. 2563 อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 83.9% สะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

ด้านอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งหมดอยู่ที่ 17.6% อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.1% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 14.2% ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

ไทยพาณิชย์ตั้งสำรองสูง-กำไรหด 69 %

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิ (งบการเงินรวมก่อนสอบทาน) ในไตรมาส 3 จำนวน 4,641 ล้านบาท ลดลง 69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 14,798 ล้านบาท เป็นผลจากการตั้งเงินสำรองปกติที่สูงขึ้นในไตรมาสนี้ และการเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีรายการกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว กำไรสุทธิลดลง 56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2563 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 22,252 ล้านบาท ลดลง 36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 34,930 ล้านบาท

ทั้งนี้ ณ สิ้น ก.ย.2563 สินเชื่อโดยรวมของไทยพาณิชย์ขยายตัว 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 3% จากสิ้นปี 2562

โดยธนาคารได้ทำการประเมินคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดอย่างรอบคอบ เพื่อทำการจัดชั้นลูกหนี้เชิงคุณภาพในกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง และมีแนวโน้มสูงที่จะฟื้นตัวไม่ได้ภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ณ สิ้นเดือน ก.ย.2563 อยู่ที่ 3.32% เพิ่มขึ้นจาก 3.05% ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2563 (ณ สิ้นไตรมาส 2) เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19

นอกจากนี้ ในไตรมาส 3 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 12,955 ล้านบาท โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 146% ในขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.7%

กสิกรไทย ลดลง 3,272 ล้าน

ด้านธนาคารกสิกรไทย (รวมบริษัทย่อย) มีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 3 ปี 2563 จำนวน 6,679 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9,951 ล้านบาท และ กำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2563 จำนวน 16,229 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2562 กำไรสุทธิลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่กำไรสุทธิที่ 29,924 ล้านบาท จำนวน 13,695 ล้านบาท หรือ 45.77%

ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ธนาคารใช้หลักความระมัดระวัง อย่างต่อเนื่องในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 17,692 ล้านบาท หรือ 70.24%

เนื่องจากธนาคารคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ประกอบกับมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ยังคงต้องมีการติดตามดูแลคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ดี เฉพาะไตรมาส 3 ธนาคารกสิกรไทย ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ลดลงจำนวน 9,377 ล้านบาท หรือ 46.44% หลัก ๆ เกิดจากในไตรมาสก่อนได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่สูงไปแล้ว

ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 ธนาคารกสิกรไทย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,545,648 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 251,759 ล้านบาท หรือ 7.64% ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตของสินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.95% เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่อยู่ที่ระดับ 3.65%

ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 อยู่ที่ระดับ 161.12% จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 148.60% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทย ตามหลักเกณฑ์ Basel III อยู่ที่ 18.45% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.74%

กรุงไทย หดไป 3,057 ล้าน

ปิดท้ายทที่ธนาคารกรุงไทย (รวมบริษัทย่อย) ในไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร ลดลงเป็น 3,057 ล้านบาท หรือลดลง 51.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,355 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 12,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 103.6% เมื่อเทียบกับการตั้งสำรองในไตรมาสเดียวกันของปี 2562

ส่วนช่วง 9 เดือน กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร อยู่ที่ 13,279 ล้านบาท ลดลง 39.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 24,007 ล้านบาท เนื่องจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จำนวน 35,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87.7% จากค่าใช้จ่ายสำรองในช่วงเดียวกันของปี 2562

นอกจากนี้ NPLs Ratio-Gross อยู่ที่ 4.21% ลดลงจาก 4.33% ณ สิ้นปี 2562 ขณะที่อัตราส่วน Coverage Ratio เพิ่มระดับขึ้นเป็น 135.6% จาก 131.8% ณ สิ้นปีก่อน ด้านยอดสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับสุทธิอยู่ที่ 2,149,620 ล้านบาท โดยธนาคาร (งบการเงินเฉพาะ) มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.01% และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยงที่ 18.42% ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับเกณฑ์ของ ธปท.

ทั้งนี้ การที่กำไรของแต่ละแบงก์ลดลงไปค่อนข้างมาก ล้วนเกิดจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรับมือความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้านั่นเอง