เร่งถกโมเดลโกดังเก็บหนี้ อุ้มธุรกิจจำศีลไม่มีรายได้

หนี้

“คลัง” จับมือแบงค์รัฐประกาศพักหนี้ต่อตั้งแต่ 6 เดือน-2 ปี ดันขยายบทบาท บสย. เพิ่มชดเชยความเสียหาย 50% หนุนแบงค์กล้าปล่อยช่วยเอสเอ็มอี นายแบงค์ประสานเร่งถกตั้ง “โกดังเก็บหนี้” อุ้มธุรกิจช่วงจำศีลไม่มีรายได้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เตือนหลังหมดพักหนี้ “เอ็นพีแอล” ส่อปูดไตรมาสแรกปีหน้า

ดัน บสย.ค้ำ 50%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น ในระยะต่อไปกลไกการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ต้องมีบทบาทมากขึ้น แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างหารือในรายละเอียดยังไม่ได้ข้อยุติตามที่เอกชนเสนอให้ขยายการรับประกันจาก 30% เป็น 50% เนื่องจากต้องมาพิจารณาในแง่เงินทุนที่จะต้องใช้ รวมถึง
ความจำเป็นก่อนด้วย

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข รองผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า ขณะนี้ บสย.อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ถึงข้อเสนอให้ บสย.ค้ำประกันเงินกู้เพิ่มเติม โดยเพิ่มการชดเชยความเสียหายจาก 30% เป็น 50% ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากการเพิ่มความชดเชยความเสียหายทุกรายสูงสุด 50% จะใช้เม็ดเงินงบประมาณของรัฐค่อนข้างมาก และช่วยธุรกิจได้จำนวนไม่มาก จึงขอให้ กกร. ช่วยแยกประเภทกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้ บสย.ได้นำเสนอแนวทางในการดูแลสอดคล้องกัน ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างพิจารณาการเข้าไปชดเชยความเสียหายมากกว่า 30% ในบางกลุ่ม

“ปกติแล้ว บสย.สามารถค้ำประกันสินเชื่อสูงสุดได้ 100% ของสินเชื่อที่ปล่อยใหม่ ขึ้นอยู่กับว่าขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันเท่าไหร่ เช่น วงเงิน 1 ล้านบาท หากมีหลักทรัพย์อยู่ 7แสนบาท บสย.ก็จะค้ำประกัน 3 แสนบาท แต่หากไม่มีหลักทรัพย์เลย บสย.ก็จะค้ำประกันเต็มจำนวน 1 ล้านบาท นอกจากนี้ บสย.สามารถเข้าไปชดเชยความเสียหายกรณีที่ลูกหนี้เป็นหนี้เสียได้เต็ม 100% แต่การชดเชยความเสียหายจะนับจำนวนสะสมทั้งพอร์ต เช่น ในพอร์ตมีลูกค้า 1,000 ราย ค้ำประกัน 30% หากลูกค้ามีวงเงินสินเชื่อเท่า ๆ กัน บสย.ก็จะชดเชยความเสียหายได้ 300 ราย ฉะนั้นการค้ำประกันของสินเชื่อใหม่ เมื่อชดเชยความเสียหายก็จ่ายเคลม 100% ต่อใบ แต่สะสมรวมกันไม่เกิน 30% ของพอร์ต” นายเกรียงไกรกล่าว

จี้ปลดล็อกซอฟต์โลน-ลด ดบ.

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐกล่าวว่า ที่ผ่านมาซอฟต์โลนมีข้อจำกัดมาก ทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงยาก ดังนั้นรัฐบาลอาจจะต้องใช้ความกล้าหาญในการแก้ไขพระราชกำหนดซอฟต์โลน เพื่อปลดล็อก ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะต้องลดดอกเบี้ยเป็น 0% เพื่อช่วยสนับสนุนการที่รัฐต้องกู้เงินมาฟื้นเศรษฐกิจ

“ส่วนการขยายการค้ำประกันของ บสย.คงออกมาแค่ 40% เพราะถ้าให้มากไปก็อาจจะเป็นการส่งสัญญาณผิด สิ่งที่จำเป็นมากกว่าก็คือควรจะมีการแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน เพราะเป็นแหล่งเงินที่ไม่ต้องนับเป็นหนี้สาธารณะ แต่ถ้าจะให้การช่วยเหลือที่ใช้เงินรัฐบาลที่จะต้องกู้มา ก็จะต้องมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

หนุนตั้ง Ware Housing อุ้ม รร.

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมไทย กล่าวว่า นอกจากมาตรการแก้ปัญหาหนี้หลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ที่ ธปท.ออกมาแล้ว โดยแบงก์สามารถพิจารณาพักชำระหนี้ต่อได้อีก 6 เดือน สำหรับกลุ่มที่ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เป็นปกติ อย่างไรก็ตามอีกด้านก็มีการหารือถึงการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์แห่งชาติ หรือ “ware housing”

ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ของผู้ประกอบการ ซึ่งหลัก ๆ คงไปตอบโจทย์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโรงแรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากโควิด-19 จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 40 ล้านคน ปีนี้ไม่ถึง 10 ล้านคน เครื่องมือตรงนี้จะเป็นตัวบริหารทรัพย์สินหรือหนี้สินเหล่านั้นได้เหมาะสม

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวคิดการทำ “ware housing” ตอนนี้ยังไม่ชัดเจน เป็นไปได้หลายรูปแบบ เช่น ให้ธนาคารตัดขายหนี้ในลักษณะขายขาดทุนที่ยอมรับได้ให้ ware housing บริหาร ซึ่งปกติถ้าเป็นหนี้เสียธนาคารต้องตั้งสำรอง 100% และจะเร่งฟ้องร้องและขายทรัพย์สิน แต่หากสามารถขายออกมาให้ ware housing โดยธนาคารไม่ต้องตั้งสำรอง ธนาคารก็สามารถนำเงินที่จะต้องตั้งสำรองมาปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ดีขึ้น

“แนวคิดเรื่อง ware housing ยังไม่ชัด ต้องดูว่ากลไกนี้จะดำเนินงานโดยใคร หรือรัฐจะเข้ามาดูแล แต่โดยรวมคือการหาทางออกให้ธุรกิจ โดยการยืดอายุธุรกิจ และธนาคารก็เอาเงินที่จะต้องตั้งสำรองมาปล่อยสินเชื่อหมุนเวียนในระบบดีขึ้น” นายสุรัตน์กล่าว

อุ้มธุรกิจช่วง “จำศีล”

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า ขณะนี้ต้องแยกว่า ลูกค้าแบงก์มีปัญหาแตกต่างกัน ไม่ได้มีความต้องการสภาพคล่องทุกราย เพราะการได้สภาพคล่องในมุมหนึ่งก็คือมีหนี้เพิ่มขึ้น ผู้ที่ต้องการสภาพคล่องช่วงนี้คือกลุ่มธุรกิจที่ยังพอไปได้ แต่หากเป็นธุรกิจที่ยังเดินไม่ได้ อาทิ โรงแรมที่ยังเปิดบริการไม่ได้ หากเปิดดำเนินกิจการต่อ กระแสเงินสดติดลบ ก็จะยิ่งกินทุนไปเรื่อย ๆ ก็คงไม่ต้องการซอฟต์โลนในช่วงนี้

“ซอฟต์โลนที่ออกมาก็มีเงื่อนไขข้อจำกัดบางส่วน เช่น ต้องเป็นลูกค้าเดิมของแบงก์ วงเงินได้ไม่เกิน 20% ของสินเชื่อคงค้าง หรือระยะเวลา 2 ปี เป็นต้น แต่การปรับตรงนั้นคงไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมด เราต้องการแก้ปัญหาที่มากกว่าซอฟต์โลน อย่างการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) แห่งชาติขึ้นมา หรือ ware housing เพื่อช่วยลูกหนี้ที่อาจต้องขอจำศีลกิจการระยะหนึ่ง พอโควิดผ่านไป เศรษฐกิจกลับมาดี ก็ให้มีสิทธิซื้อคืน ผมว่าน่าจะออกมาในรูปนั้น ที่จะมาช่วยเสริมซอฟต์โลน”

การตั้ง ware housing คงต้องเร่งพิจารณาให้จบภายในปีนี้ เพื่อรับมือกับผลกระทบหลังจบมาตรการพักชำระหนี้ที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกว่าจะเห็นผลกระทบชัดเจนก็ต้องใช้เวลาราว 90 วัน หรือไตรมาสแรกปี 2564 ดังนั้นจึงต้องทำให้เร็ว อย่างไรก็ดีการตั้ง ware housing ต้องดูแลให้ครอบคลุมทั้งธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงรายย่อยด้วย เพราะรายย่อยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะบางคนมีคอนโดมิเนียม มีบ้าน ผ่อนไม่ไหว ทำอย่างไรไม่ให้ต้องไปดัมพ์ขายพร้อมกัน หรือต้องขายขาดทุน
ทำอย่างไรจะช่วยให้เก็บบ้านไว้เพื่ออยู่อาศัยต่อไปได้

แบงก์รัฐพักหนี้ต่อสูงสุด 2 ปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ลูกหนี้ในระบบที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ตาม พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งสิ้นสุดมาตรการวันนี้ (22 ต.ค. 63) มีจำนวนกว่า 12.12 ล้านราย มูลหนี้ทั้งสิ้น 6.9 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นลูกหนี้สถาบันการเงินของรัฐ 6.57 ล้านราย มูลหนี้ 2.89 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ในสถาบันการเงินของรัฐ 4 แห่งมากที่สุด ได้แก่…

ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ดังนั้นจึงได้มีมาตรการพักชำระหนี้ออกมาช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง

สำหรับธนาคารออมสินได้ขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไปถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 63 สำหรับสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาทที่มีจำนวน 3 ล้านราย ส่วน ธ.ก.ส.ขยายระยะเวลาพักชำระหนี้อีก 1 ปี ด้าน ธอส.ให้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยถึง ม.ค. 64 ส่วน ธพว.ขยายเวลาพักชำระเงินต้นออกไปอีก 6 เดือน สิ้นสุด มี.ค. 64

ขณะที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ก็ได้ขยายเวลาพักหนี้ออกไปอีก 2 ปี ตามประเภทธุรกิจที่มีความเสี่ยง และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ก็ได้มีการผ่อนปรนช่วยเหลือลูกหนี้รายบุคคลไปจนถึง มิ.ย. 64 นอกจากนี้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็ได้มีการพักชำระค่างวด 6 เดือน เอสเอ็มอีสามารถยื่นคำร้องได้ถึงเดือน ธ.ค. 63

เติมสภาพคล่องช่วยจ้างงาน

นายอาคมกล่าวว่า นอกจากมาตรการพักชำระหนี้แล้ว จะต้องเข้าไปปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยแบงก์จะต้องเข้าไปเสริมสภาพคล่องเพื่อเป็นการช่วยรักษาธุรกิจให้อยู่รอด ซึ่งจะส่งผลต่อการช่วยรักษาการจ้างงานด้วย โดย บสย.ก็อยู่ระหว่างพิจารณาออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 กระทรวงการคลังก็อยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มวงเงินให้ ซึ่งจะเข้าไปสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อีกช่องทางหนึ่ง

พร้อมยืนยันว่า ทุกธนาคารรัฐมีความแข็งแกร่งจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด จึงไม่มีปัญหาในการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งได้สั่งการให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐดูแลไม่ให้ลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถชำระหนี้สม่ำเสมอ ไม่ให้ตกชั้นกลายเป็นเอ็นพีแอล